"มท.2" สั่งทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับมือพายุ "โนอึล" ตลอด 24 ชม. ย้ำ! "ผู้ว่าฯ - นายอำเภอ" ดูแล ปชช. ใกล้ชิด
18 ก.ย. 2563, 13:42
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) เปิดเผยว่าสถานการณ์พายุโซนร้อน "โนอึล" ขณะนี้ อยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 170 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงพายุกําลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือ ด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง บริเวณเมืองดานังในวันนี้ (18 ก.ย.63) จากนั้นจะเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณจังหวัดมุกดาหารในช่วงค่ำวันเดียวกัน และเคลื่อนผ่านภาคเหนือเข้าสู่ประเทศเมียนมาต่อเนื่องไป ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกําลังแรงขึ้น ทําให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้เริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้นภาคเหนือและภาคอื่น ๆ จะมีผลกระทบในระยะต่อไป
ในการส่วนของการเตรียมการรับมือสถานการณ์พายุ "โนอึล" ที่จะมาถึงประเทศไทยในคืนนี้ นายนิพนธ์ รมช.มท. กล่าวว่า "ได้สั่งการไปยังอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยของกรม ปภ. ที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนหากได้รับผลกระทบจากพายุ พร้อมทั้งกำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในทุกพื้นที่เสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายจากพายุฯ ให้อยู่ในพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทันเหตุการณ์หากเกิดความรุนแรงจากผลกระทบของพายุพร้อม ทั้งประสานไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆให้มีการจัดเวรยามเฝ้าระวังสถานการณ์พายุอีกด้วย โดยยังคงเน้นย้ำ ทุกหน่วยปฏิบัติให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่ได้ซักซ้อมอยู่เป็นประจำ และ การเตรียมการอพยพตามแผนที่ต้องมีความพร้อม ทั้งเรื่อง เป็นสถานที่ปลอดภัย อาหาร น้ำดื่มที่สะอาด การดูแลปฐมพยาบาล ตลอดจนการตรวจตราความเรียบร้อยไม่ให้ทรัพย์สินที่ยังอยู่ในบ้านเรือนที่อพยพมาเกิดการสูญหาย"
สำหรับพี่น้องประชาชน ขอให้ติดตามสถานการณ์ สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อย่างใกล้ชิด ในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณใกล้เชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้และระวังอันตรายจากลมแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงไว้ และที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงการรักษาชีวิตไว้เป็นลำดับแรก