ชาวบ้านแห่ตัก "ปูแป้น" หลงน้ำ ดองน้ำปลาขาย กก.ละ 200-300 บาท
22 ก.ย. 2563, 08:41
22 ก.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านแห่ตักปูแป้นที่ใต้สะพานข้ามแม่น้ำเวฬุ บ้านท่าจอด ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง จ.ตราด ชาวบ้านจากตำบลแสนตุ้ง อ.เขาสมิง ต.บ่อ อ.ขลุง จ.จันทบุรี พากันมานั่งรออยู่ริมแม่น้ำเวฬุ พร้อมกับอุปกรณ์ในการตักปูแป้น คือสวิงตักปูแป้น ที่มัดกับด้ามไม้ยาวประมาณ2-3 เมตร และกระป๋องพลาสติกสำหรับใส่ปู นอกจากนี้ยังมีสปอตไลต์ติดศรีษะสำหรับส่องหาปูด้วย โดยมีชาวบ้านจำนวนกว่า 100-200 คน รอตักปูอยู่ทั้งริมฝั่งแม่น้ำเวฬุด้านบ้านท่าจอด ต.แสนตุ้ง จ.ตราด และฝั่งต.บ่อ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ขณะเดียวกันยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมาก นำเรือพาย เรือยนต์ แล่นไปมาตามกลางแม่น้ำเพื่อตระเวนตักปูแป้นในแม่น้ำ ซึ่งคืนนี้เป็นคืนที่ 2 แล้วที่มีปูแป้นลอยตามน้ำมาในแม่น้ำเวฬุทั้งฝั่งจ.ตราดและฝั่งจ.จันทบุรี
นายพิชัย ชูศรีทอง ชาวบ้านต.แสนตุ้ง เล่าให้ฟังว่า มาตักปูแป้นเป็นคืนที่ 2 แล้ว คืนนี้มีผู้คนมาตักปูแป้นกันมากเป็นพิเศษ ซึ่งตนเองจะตักปูแป้นไปขายสดๆเป็นๆ ในราคากก.ละ 150 บาท ซึ่งช่วงนี้ (เวลา19.00น.) เป็นช่วงปูเริ่มลอยมาให้ตัก โดยใช้สวิงต่อด้ามยาวและคอยตักปูแป้นที่ไหลมาตามน้ำ คืนที่ผ่านมาตักปูได้ไม่มากนัก สู้คนที่ใช้เรือแล่นไปตามแม่น้ำตักปูลอยตามน้ำจะได้มากกว่า บางคนได้เป็น10กก.ขึ้นไป ขณะนายสาโรจน์ สระพิมาย อายุ 49 ปี ชาวบ้านต.แสนตุ้ง เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของปูแป้นดังกล่าวว่า ปกติปูแป้นจะลอยมาตามน้ำเพื่อผสมพันธุ์กันในช่วงก่อนวันออกพรรษาประมาณ 3-4 วัน ในช่วงนั้นจะมีปูแป้นจำนวนมากลอยมาตามน้ำ หลังจากไปอาศัยอยู่ในป่าชายเลนที่เป็นพื้นที่น้ำกร่อย เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ก็จะไหลมาตามน้ำเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ แต่ปูแป้นที่ไหลมาตามน้ำในครั้งนี้คาดว่าน่าจะเป็นปูแป้นที่ไหลมาตามน้ำเนื่องจากฝนตกหนัก น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ และพัดเอาปูแป้นไหลมาจากป่าชายเลน นับเป็นโอกาสในช่วงวิกฤตพายุโนอึล ทำให้ชาวบ้านมีรายได้กันคนละนับพันบาทจากการตักปูแป้นไปดองน้ำปลาส่งขาย ได้ราคากก.ละ 250-300 บาทกันเลยทีเดียว
ปล่อยเสียง
สาโรจน์ สระพิมาย ชายบ้านที่มาตักปูแป้น
( หมายเหตุ// ข้อมูล...ปูแป้นปูแป้น หรือ ปูจาก หรือ ปูใบไม้ เป็นปูขนาดเล็กมีขนาดประมาณ 5–7 เซนติเมตร กระดองแบนและมีสีน้ำตาลแกมเหลือง สีของกระดองจะเข้มกว่าสีของขาเดิน มีหนามข้างกระดองหยักเป็นฟันเลื่อยมี 2 ซี่ ขอบตาเว้าระยะห่างพอ ๆ กัน ก้ามซ้ายขวามีลักษณะค่อนข้างแบนและขนาดใกล้เคียงกัน ขนอ่อนเส้นสั้น ๆ เรียงติดกันเป็นแผงตามขอบบนด้านในของข้อที่ 3–4 ส่วนข้อที่ 5 มีหนามยื่นยาวอยู่หนึ่งอันเล็ก ๆ อีกข้างละอัน ข้องที่ 4 ขาเดินทั้งสี่ไม่มีหนาม แต่มีขนอ่อนเรียงเต็มนิ้วของขาเดินแบนกว้าง ซึ่งจากลักษณะขาและขนทำให้เป็นปูแป้นเป็นปูที่ว่ายน้ำเร็วอีกชนิดหนึ่ง และเป็นปูสองน้ำ เนื่องจากขณะที่ยังเป็นตัวอ่อนอยู่นั้นจะอาศัยอยู่ในทะเล จากนั้นลอยตามน้ำขึ้นมาอาศัยในน้ำจืดและน้ำกร่อยจนเป็นตัวเต็มวัย พอถึงฤดูสืบพันธุ์ก็จะเดินทางไปผสมพันธุ์และปล่อยไข่ในทะเล
ฤดูสืบพันธุ์ของปูแป้นจะมีในช่วงกลางปีถึงปลายปีราวเดือนสิงหาคม–ธันวาคม โดยจะมีปรากฏการณ์ปูแป้นจำนวนมากอพยพเข้าในวางไข่ในแหล่งน้ำจืด โดยสถานที่ ๆ พบได้มากที่สุดในประเทศไทย คือ แม่น้ำเวฬุ และลำคลองสาขาในตำบลแสนตุ้ง อ.เขาสมิง จ.ตราด ในเขตตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี จนเป็นงานเทศกาลของจังหวัดที่เรียกว่า "เทศกาลดูปูแป้น ชื่นชมธรรมชาติ" ในช่วงเดือนตุลาคม–พฤศจิกายนของทุกปี ปูแป้นจะมีจำนวนมากลอยมาตามกระแสน้ำหรือเกาะตามใบไม้ หรือเศษวัสดุต่าง ๆ ถึงขนาดใช้อวนหรือสวิงช้อนจับได้คราวละมาก ๆ ในเวลากลางคืน โดยจะปรากฏมากที่สุดในช่วง 2 วันหลังคืนวันเพ็ญของเดือนพฤศจิกายน (วันลอยกระทง) และจะเกิดต่อเนื่องเพียง 1–2 วัน ครั้งละ 90–120 นาที ซึ่งจะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นน้ำลงขึ้นเต็มที่ในรอบปี นิยมนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น ผัดปูแป้นกับก๋วยเตี๋ยวเส้นจันทร์ หรือจับปิ้งปูแป้นดองน้ำปลา) เป็นอาหารพื้นบ้านของคนพื้นที่อีกด้วย