เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



อสม.-หมอพยาบาล ผู้นำชุมชนแห่ต้อนรับ "อนุทิน" กว่าครึ่งหมื่น


27 ก.ย. 2563, 08:41



อสม.-หมอพยาบาล ผู้นำชุมชนแห่ต้อนรับ "อนุทิน" กว่าครึ่งหมื่น




ชาวจังหวัดบึงกาฬให้การต้อนรับหมอหนู นายอนุทิน ชายวีรกุล รองนายกฯและ รมว.กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะอย่างอบอุ่นล้นหลามกว่าครึ่งหมื่นคน ชมสาทิตการทำแท่งแบริเออร์และเสาลายบอกทางโค้งด้วยยางพารา สามารถดึงราคายางพาราให้สูงขึ้นได้และให้ชาวสวนยางมีรายได้ไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท โปรยยาหอมเทงบสร้างถนน ถนนมอเตอร์เวย์ สนามบินกว่า 10,000 ล้านบาทปี 2565-2569

 

 

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 26 ก.ย.ที่ข้างถนนสาย 222 บึงกาฬ-พังโคน ตรงข้ามทางเข้าวิทยาลัยการอาชีพบึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ได้มีมวลชนได้ทยอยกันเข้านั่งรอในเต้นท์ขนาดใหญ่ตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อรอต้อนรับคณะของนายอนุทิน ชายวีรกุล รองนายกฯและรมว.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานรัฐสภาคนที่ 2 จากพรรคภูมิใจไทย โดยมีนายสนิท ขาวสอาด ผวจ.บึงกาฬและนายนฤชา  โฆษาศิวิไลซ์ รอง ผวจ.ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยข้าราชการ หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ อสม.และผู้นำชุมชนกว่า 5 พันคนให้การต้อนรับด้วยความอบอุ่น ซึ่งทางคณะรองนายกฯ ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดโครงการนำน้ำยางพารา มาใช้เพื่อปรับปรุงอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) ที่จังหวัดนครพนม บึงกาฬ และจังหวัดเลย สำหรับแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางหรือเสาลายบอกทางโค้ง ซึ่งยางธรรมชาติสามารถที่จะช่วยลดแรงปะทะที่เกิดจากการชน ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ประกอบกับมีสัดส่วนการใช้น้ำยางพารา เป็นส่วนผสมจำนวนมาก จึงเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราสร้างรายได้โดยตรงไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทในปีการผลิต 2563-2565

 

 

 

 

 



นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า ได้มาจังหวัดบึงกาฬเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย โดยผู้ที่นำเสนอขอจัดตั้งเป็นจังหวัดบึงกาฬแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2554 ก็คือ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือบิดาของผมเองซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงได้มีจังหวัดบึงกาฬในวันนี้และผมเองก็เพิ่งได้มีโอกาสได้มาเยี่ยมชมพบปะพี่น้องชาวจังหวัดบึงกาฬเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นจังหวัดที่น่าอยู่ มีภูมิประเทศที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย ผู้คนก็จิตใจดี ถึงแม้นว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาพี่น้องชาวจังหวัดบึงกาฬไม่ได้เลือก คุณแว่นฟ้า ทองศรี มาเป็น ส.ส.แต่ได้คะแนนถึง 3 หมื่นกว่าคะแนนก็ทำให้พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นและทำให้ ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี ลูกเขยคนบึงกาฬ ได้รับตำแหน่ง รมช.มหาดไทยหรือ มท.3 จึงได้อนุมัติให้นำงบประมาณมาพัฒนาจังหวัดบึงกาฬ มากกว่า 10,000 ล้านบาท ในระหว่างปีงบประมาณ 2563-2568 เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ถนน สนามบิน เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมจังหวัดบึงกาฬได้รับความสะดวกสบายปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม กล่าวว่ามีความตั้งใจที่จะมาส่งเสริมการทำยางพาราของพี่น้องชาวจังหวัดบึงกาฬ มาใช้ปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนตามแนวทางที่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวไว้ในโครงการนี้ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ผ่านมาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางถนนและเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราสร้างรายได้โดยตรงให้แก่เกษตรกรสวนยางพาราไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท จึงได้สั่งการให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมโดยเฉพาะกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินการคิกออฟโครงการโดยการใช้ “แผ่นยางธรรมชาติมาครอบกำแพงคอนกรีต” หรือ Rubber Fender Barrier หรือ RFB และหลักนำทางยางธรรมชาติ มาติดตั้งบนถนนเนื่องจากจังหวัดบึงกาฬเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะสร้างความมั่งคั่งสร้างรายได้แก่เกษตรกรโดยตรง ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน ให้แก่พี่น้องเกษตรกรด้วยการเรียนรู้และต่อยอดองค์ความรู้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีรายได้มากยิ่งขึ้นในอนาคตเป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพาราในประเทศให้มากขึ้นอีกด้วย

 

 

 

 

 


แต่อย่างไรก็ตาม การนำยางพารามาใช้เพียงปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนของกระทรวงคมนาคม จะไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้แต่โดยลำพัง วันนี้จึงได้ตั้งใจที่จะได้มาพบปะกับทุกท่านเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือร่วมใจจากท่านทั้งหลาย ให้มีส่วนร่วมกับการดำเนินโครงการดังกล่าว หากท่านใดมีข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ท่านก็สามารถบอกกล่าวผ่านมาทางท่าน ส.ส.ในพื้นที่ซึ่งเป็นตัวแทนของท่านหรือผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะพ่อเมืองหรือผ่านผู้นำท้องถิ่นกำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อส่งความคิดเห็นของท่านมายังกระทรวงคมนาคม ผมยืนยันว่าเราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับท่านในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญในลำดับต่อไป

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงยังได้มีแผนพัฒนาโครงข่างทางหลวงในจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง จำนวน 3 โครงการดังนี้คือ 1.โครงการก่อสร้างทางหลวง หมายเลข 212 ระหว่าง อ.โพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ถึงจังหวัดบึงกาฬ ตอนหอคำ-บึงกาฬ ระยะทาง 17 กม.ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 27 ก.ค.63  2.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน เพิ่งได้รับงบประมาณปี 63 อยู่ระหว่างลงนามสัญญากับผู้รับจ้างและ 3.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 222 อ.พังโคน จังหวัดสกลนคร-บึงกาฬ ตอน อ.ศรีวิไล-บึงกาฬ ระยะทาง 16 กม.พึ่งได้รับงบประมาณปี 63 อยู่ระหว่างการลงนามสัญญากับผู้รับจ้าง

 

ส่วนแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในจังหวัดบึงกาฬนั้น ที่ถนน 212 ระหว่าง อ.บุ่งคล้า-บ้านแพง ตอนที่ 1 41 กม.ใช้งบประมาณ 750 ล้านบาท และอ.บุ่งคล้า-บ้านแพงตอนที่ 2 ระยะทาง 19 กม.งบประมาณ 800 ล้านบาท ระหว่างบ้านห้วยก้านเหลือง-บ้านดงบัง ระยะทาง 33 กม.ใช้งบประมาณ 1,320 ล้านบาท ถนนสาย 222 พังโคน-บึงกาฬตอนบ้านท่ากกแดง-บึงสวรรค์ ระยะทาง 36 กม.งบประมาณ 1,650 ล้านบาท และถนน 2026 ระหว่างบ้านหนองหิ้ง-บ้านเหล่าหลวงระยะทาง 43 กม.ใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท ซึ่งแผนพัฒนาดังกล่าวจะเป็นปีงบประมาณ ระหว่างปี2565-2569 นอกจากนั้นยังมี โครงการที่จะสร้างสนามบินจังหวัดบึงกาฬ และถนนมอเตอร์เวย์บึงกาฬ- อุดรธานีอีก ซึ่งงบประมาณที่จะลงมาทั้งหมดตามที่กล่าวมาแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท

 

ส่วนการนำน้ำยางพารามาทำแท่งแบริเออร์และเสาหลักลายบอกทางโค้ง การทดสอบประเมินสมรรถนะแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต หรือแท่งแบริเออร์นั้นทำให้รถเปลี่ยนทิศทางไม่เหินข้าม และผลที่ทดสอบเป็นที่ยอมรับได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล NHTSA สร้างความปลอดภัยจากแรงปะทะเมื่อใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและใช้งานได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี โดยแท่งแบริเออร์ความยาว 1 เมตรจะใช้ ยางพาราซึ่งเป็นยางแผ่นหรือยางก้อนถ้วย ประมาณ 28 กก.ราคาประมาณ 3,400 บาท คิดคำณวนจากยางพาราที่ กก.ละ 45 บาท ส่วนเสาลายต้นหนึ่งจะใช้ยางพาราประมาณ 19 กก.ผลิตขายราคาต้นละ 2,000 บาท แล้วแต่ต้นทุนจากการซื้อยางในขณะเวลานั้น ซึ่งการชนปะทะจะทำให้ยืดหยุ่นและไม่ทำให้เสียหายด้านทรัพย์สินและชีวิตร่างกาย มากเหมือนกับเสาปูน ที่เมื่อรถชนอาจจะพังเสียหายและร่างกายอาจจะแขนขาหักหรือทำให้เสียชีวิตได้โดยเฉพาะการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่เสียหลักแหกโค้งชนเสาทางโค้ง

 

 

 

 

 

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.