"รมว.ทส." ล่องเรือ ชมเกาะมะพร้าวกะทิ-ปาล์ม จ่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หลังทวงคืนจากนายทุนใหญ่สำเร็จ
27 ก.ย. 2563, 11:21
วันนี้ 27 09 63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่าจากรณี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติ ธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธ์พืช นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) รวมทั้งนายสินธพ โมรีรัตน์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี และคณะ
เข้ารับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินการ พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน และตรวจเยี่ยมให้ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค อ.ไทรโยค และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยช่วงเย็นของวันที่ 26 ก.ย.63 ที่ผ่านมา นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)และนายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ได้นำพาคณะของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.นั่งเรือยนต์ ไปสำรวจเกาะมะพร้าวกะทิ และเกาะปาล์ม ที่อยู่กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ที่กรมอุทยานฯยึดคืนจากนายทุนชาวจังหวัดสุราษฎรธานี เมื่อปี 2559 และมีแผนพัฒนาเกาะทั้งสองแห่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ อ.สังขละบุรี และ จ.กาญจนบุรี
โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.เปิดเผยภายหลังว่า ขณะนี้คดีของทั้งสองเกาะนั้นสิ้นสุดแล้ว อย่างน้อยก็เป็นที่น่ายินดีว่าทั้งสองเกาะยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 100% การที่ทางกรมอุทยานจะวางแผนในการที่จะพัฒนาพื้นที่สองเกาะนั้นคงต้องนำเรื่องราวไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการหลายๆฝ่ายก่อน เพราะเกาะนี้ยังมีมะพร้าวกะทิอยู่หลายพันต้นด้วยกัน
ดังนั้นหากจะมีการปรับปรุงเพื่อหาประโยชน์ในพื้นที่บริเวณนี้ จะต้องมีแผนดำเนินการว่าจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะใด ซึ่งจากระบบนิเวศของเกาะมะพร้าวกะทิและเกาะปาล์ม มีมานานหลายสิบปีแล้ว ฉะนั้นการที่กรมอุทยานฯจะเข้ามาหาประโยชน์หรือทำอะไร จะต้องดูให้ดีและต้องร่วมกันพิจารณากับหลายๆฝ่าย
การพัฒนานั้นมันไม่ยาก แต่ว่าการที่จะพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง คงต้องหารือกับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ด้วยว่า ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่กันมาอย่างไร และสภาพความเป็นอยู่โดยทั่วไปของพี่น้องในพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งหากจะทำอะไรกรมอุทยานฯจะต้องคำนึงถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อนเป็นหลัก และต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่แค่ภาครัฐบาลหรือภาคเอกชน หรือพี่น้องประชาชน ได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
และเมื่อมีการพัฒนาแล้วต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการดูแลที่ถูกต้องเพราะว่ากว่าต้นไม้แต่ละต้นบนเกาะนี้จะโต ต้องใช้เวลานับสิบๆ ปี โดยแนวทางที่จะพัฒนาจากนี้ไปต้องคำนึงถึงความยั่งยืนแล้วสภาพของต้นไม้ รวมทั้งระบบนิเวศของแต่ละเกาะด้วย แต่ดูศักยภาพของทั้งสองเกาะแล้วพบว่ามีศักยภาพในการที่จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้สูง แต่ว่าเนื่องจากว่าเราเพิ่งได้พื้นที่มาคงต้องใช้เวลาในการศึกษา เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าจะเร่งรีบไม่ได้ ก็ขอให้ความมั่นใจได้ว่าเราจะทำให้ดีที่สุด แต่ว่าจะต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป
ซึ่งทั้งสองเกาะนั้นจะสามารถนำมาพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือเป็นสถานพักผ่อนแบบพักค้างคืนได้หรือไม่ แนวทางนี้คงจะต้องไปหารือกับหลายฝ่ายถึงความเหมาะสมว่าถ้ามีการค้างคืนบนเกาะนี้ จะบริหารจัดการกันอย่างไร สภาพความสมดุลบนเกาะนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าหากว่ามันมีผลกระทบแล้วเราก็คงจะไม่ให้มีการพักค้างคืน
สำหรับด้านการเกษตรที่มีอยู่บนเกาะนอกจากจะมีมะพร้าวกะทิแล้ว คงต้องมาสำรวจอีกครั้งว่า จะสามารถนำพืชชนิดใดมาปลูกบนเกาะนี้ได้ และหากจะพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้อะไร ก็คงต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลายๆหน่วยงาน อย่างที่เรียนว่าคงต้องปรึกษากันกับหลายๆฝ่ายก่อน
ด้านนายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สบอ.3(บ้านโป่ง) กล่าวว่าพื้นที่เกาะกลางน้ำทั้ง 2 เกาะ ที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดคืนจากนายทุนชาว จ.สุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่รวมกันกว่า 500 ไร่ โดยเกาะแรก ปลูกมะพร้าวกะทิ เกาะที่สอง ปลูกปาล์ม น้ำมัน ซึ่งทั้ง 2 เกาะ ตั้งอยู่บริเวณกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ท้องที่หมู่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี
ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ได้ดำเนินคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากกลุ่มนายทุน รวม 2 คดี จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดดำเนินคดีต่อกลุ่มนายทุนบุกรุกเกาะมะพร้าวกะทิ และเกาะปาล์มน้ำมัน
โดยเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2559 ได้ตรวจยึดพื้นที่เกาะปาล์มน้ำมัน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ เนื้อที่ 230 ไร่ ซึ่งทำการปลูกปาล์มน้ำมัน ประมาณ 2,000 ต้น และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตามคดีอาญาที่ 27/2559 ผู้ต้องหาคือนายจิตติ รัตนเพียรชัย พร้อมพวก 5 คน และอุปกรณ์การกระทำผิด 9 รายการ
และอีกคดีที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดดำเนินคดีต่อกลุ่มนายทุนที่บุกรุกเกาะมะพร้าวกะทิ บนเกาะกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ เนื้อที่ 339 ไร่ ซึ่งทำการปลูกมะพร้าวกะทิมากกว่า 2,000 ต้น และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2559 คดีอาญาที่ 52/2559 ผู้ต้องหาคนเดียวกัน คือ นายจิตติ รัตนเพียรชัย และพวกรวม 3 คน อุปกรณ์การกระทำผิด 10 รายการ ซึ่งผลคดีเกาะปาล์มน้ำมัน ศาลชั้นต้นตัดสินเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2560 ว่าจำเลยทั้ง 5 มีความผิด ลงโทษจำคุกคนละ 15 ปี ส่วนผลคดีเกาะมะพร้าวกะทิ ศาลตัดสินเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2560 ว่าจำเลยทั้ง 3 คน มีความผิด ลงโทษจำคุกคนละ 15 ปี ศาลให้นับโทษต่อกัน 2 คดี รวม 30 ปี
โดยจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 กระทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้เปลี่ยนคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดทั้ง 2 คดี ลงโทษจำคุกคดีละ 5 ปี นับโทษต่อกัน รวม 10 ปี ส่วนลูกน้องนายจิตติ รัตนเพียรชัย ที่เป็นแรงงานชาวเมียนมา ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษา ยืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุกนายจิตติ รัตนเพียรชัย นับรวมกัน 2 คดีเป็นเวลา 10 ปี โดยวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยไม่ได้เดินทางมาที่ศาล ศาลจึงอ่านคำพิพากษาในทางลับ จึงถือว่าคดีนั้นสิ้นสุด
ส่วนคดีแพ่งที่อุทยานฯ เขาแหลม ยื่นฟ้องคดีแพ่ง เกาะปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ 300-3-00 ไร่ ค่าเสียหาย 17,490,872 บาท และเกาะมะพร้าวกะทิ เนื้อที่ 311-1-00 ไร่ ค่าเสียหาย 18,800,034 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นของทั้ง 2 คดีเป็น 36,290,906 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างฎีกา ซึ่งคดีนี้ถือว่าเป็นเป็นคดีที่สำคัญคดีหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี ที่กรมอุทยานฯต่อสู้กับกลุ่มนายทุนมานานหลายปี และในที่สุดศาลฎีกาได้พิพากษาจำคุกต่อนายทุนรายใหญ่