"เอลนีโญ" พ่นพิษ 17 เขื่อนใหญ่น้ำน้อยกว่า 30 % เตือนเหนือ-อีสานยังไม่พ้นวิกฤติ
21 ก.ค. 2562, 10:50
วันที่ 20 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงปัจจุบันปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยถือว่าน้อยกว่าค่าปกติมาก โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือ น้ำฝนน้อยกว่าปกติถึง 144 และ 150 มิลลิเมตร (มม.) ตามลำดับ รวมทั้งประเทศน้อยกว่าปี 2561 ถึง 200-300 มม. สาเหตุคือ ต้นน้ำของเขื่อนสำคัญมีฝนไม่มากพอ น้ำไหลลงเขื่อนน้อยมาก
ขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำเก็บกักต่ำกว่า 30% ของความจุมีถึง 17 แห่งจากทั้งหมด 35 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดมีน้ำ 29% เขื่อนแม่กวงอุดมธารามีน้ำ 17% เขื่อนแควน้อยมีน้ำ 16% เขื่อนลำปาวมีน้ำ 26% เขื่อนลำพระเพลิงมีน้ำ 15% เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำ 24% เขื่อนจุฬาภรณ์มีน้ำ 28% เขื่อนห้วยหลวงมีน้ำ 22% เขื่อนลำนางรองมีน้ำ 23% เขื่อนมูลบนมีน้ำ 29% เขื่อนน้ำพุงมีน้ำ 20% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำ 5% เขื่อนทับเสลามีน้ำ 24% เขื่อนกระเสียวมีน้ำ 23% เขื่อนคลองสียัดมีน้ำ 13% เขื่อนขุนด่านปราการชลมีน้ำ 15% และเขื่อนนฤบดินทร์ทรจินดามีน้ำ 22% ที่น่าตกใจคือบางพื้นที่ใน จ.พิจิตร ฝนยังไม่ตกเลยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่ต้นปีมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแค่ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2561 มีน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 279 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์ฝนในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ เนื่องจากดัชนีเอนโซยังคงสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน มีแนวโน้มคล้ายกับปี 2550 เดือน ก.ค. ตอนบนจะมีฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือ เดือน ส.ค. ภาคเหนือและภาคกลางโดยส่วนใหญ่จะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และเดือน ก.ย.ตอนบนจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติในภาคกลางและภาคตะวันออก ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่ พบว่าหลายเขื่อนแทบจะไม่มีน้ำไหลลงเลย เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัด เขื่อนแควน้อย เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนลำมูลบน เป็นต้น
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีประมาณ 1,514 ล้าน ลบ.ม. ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานบริหารตามแนวทางของกรมอย่างเคร่งครัด โดย 1.ให้ประสานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ปฏิบัติตามแผนส่งน้ำในแต่ละรอบเวรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้น้ำไปถึงเกษตรกรอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกคือนาข้าวที่ปลูกแล้วประมาณ 6.21 ล้านไร่ 2.กำชับให้สถานีสูบน้ำของ อปท.สูบน้ำตามรอบเวรตามแผนงาน 3.เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นพื้นที่นาดอน ให้ชะลอการปลูกข้าวไปจนกว่าจะมีฝนปกติ ในส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา
ยมน่าน ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบว่าจะเริ่มงดส่งน้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่ 31 ก.ค.นี้ พร้อมกันนี้กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ 1,935 เครื่อง รถน้ำ 106 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆอีกกว่า 2,000 หน่วย ไปประจำไว้ที่สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร
ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งขยายวงอย่างต่อเนื่องที่ จ.กาฬสินธุ์ นาข้าวในพื้นที่บ้านเชียงสา ต.บัวบาน อ.ยางตลาด นับพันไร่ใกล้ยืนต้นตายเนื่องจากเครื่องสูบน้ำที่ใช้สูบน้ำจากลำน้ำพานลงคลองระบบไฟฟ้าส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรที่อยู่สูงกว่าคลองชลประทาน เกิดชำรุดนั้น นายกฤษณะ ภูทองขาว รองนายกเทศมนตรี นำเจ้าหน้าที่ไปซ่อมเครื่องสูบน้ำจนใช้การได้แล้ว ระบบสามารถส่งน้ำไปยังนาข้าวในโครงการได้ตามปกติแล้ว ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานบ้านหนองกุงเผือก หมู่ 6 ต.ลำหนองแสน อ.หนองกุงศรี นาข้าวในพื้นที่เกือบร้อยละ 70 แห้งตายไปแล้ว หากไม่มีฝนตกในช่วง 2-3 วันนี้ข้าวคงจะยืนต้นตายทั้งหมด
จ.นครราชสีมา ที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน บ้านสระพัง ต.บ้านเก่า อ.ด่านขุนทด เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ ความจุ 10 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอุปโภคบริโภค ใช้ในการเกษตร และเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคด่านขุนทด หล่อเลี้ยงชาวตำบลด่านขุนทดและตำบลใกล้เคียง พบว่าน้ำแห้งขอดกลายสภาพเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ไปแล้ว มีชาวบ้านต้อนวัวควายลงไปกินหญ้า บางคนนำแหลงไปทอดหาปลาตามแอ่งน้ำกระจายเป็นหย่อมๆ นายวันชัย น้อมระวี ผจก.การประปาส่วนภูมิภาคด่านขุนทด กล่าวว่า ปริมาณน้ำในอ่างเหลือประมาณ 6 แสน ลบ.ม. สามารถสูบไปใช้ได้ราว 2 เดือน หรืออย่างมาก 75 วันเท่านั้น หากไม่มีฝนตกลงมา จำเป็นต้องไปผันน้ำจากบึงถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด มาใช้
ที่ จ.นครพนม ได้รับผลกระทบหนักทั้งจากฝนทิ้งช่วง และระดับน้ำโขงลดต่ำผิดปกติ ทำให้ระดับลำน้ำอูนเชื่อมต่อกับลำน้ำสงครามก่อนไหลลงสู่น้ำโขงแห้งขอดเป็นช่วงๆ ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ส่งผลกระทบให้พื้นที่การเกษตรทั้งนาปีและนาปรังกว่า 50,000 ไร่ขาดน้ำ หากไม่มีฝนตกมาภายใน 1-2 สัปดาห์นาข้าวจะล่มเสียหายทั้งหมด เจ้าหน้าที่ต้องปิดประตูระบายน้ำลำน้ำอูนเชื่อมต่อลำน้ำสงคราม และประตูระบายน้ำลงสู่น้ำโขงเพื่อกักน้ำไว้ใช้ให้นานที่สุด แต่มีน้ำเหลือเพียงแค่ร้อยละ 10 ของปกติ ขณะที่ลำน้ำสงคราม เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง ทำให้การประมงเป็นรายได้หลักอีกทางของชาวบ้าน ก็ไม่สามารถทำได้เพราะระดับน้ำลดลงเกือบแห้ง
ที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย จุดสุดท้ายที่แม่น้ำโขงไหลผ่านภาคเหนือก่อนไหลเข้าในพื้นที่ประเทศลาว มีโขดหินโผล่ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ นายสมรส ศรจุฬา ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า น้ำโขงแห้งเป็นปัญหาใหญ่เกิดจากการที่จีนปิดเขื่อน ประกอบกับฝนทิ้งช่วง ทำให้ลำห้วยสาขาของแม่น้ำโขงพลอยแห้งอย่างเคยเป็นมาก่อน ปลาที่หลบซ่อนอยู่ตามโขดหินร่องน้ำแห้งตายหมด อาจจะสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ อาชีพหาปลาอยู่ยากยิ่ง ปลาที่จะทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ก็ลำบาก ชาวบ้านยังไม่กล้าปลูกข้าว สวนส้มโอมีชื่อหลายสวนต้นส้มโอยืนต้นตาย ผลที่ออกมาก็เหี่ยวฝ่อไปหมด
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ก.ค. จะเรียกประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์ และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ หลังปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศเหลือไม่มาก ต้องลดการระบายน้ำลง เพื่อให้แล้งหน้าตั้งแต่ 1 พ.ย.62-30 เม.ย.2563 ต้องรอด เชิญทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำทั่วประเทศ มาหารือว่าจะบริหารจัดการ น้ำที่เหลืออยู่ทั่วประเทศอย่างไร ต้องยอมรับว่า ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ไม่น่าจะสามารถปล่อยไปเพื่อทำการเกษตรได้แล้ว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า กรมชลประทานได้ระบุว่าทั่วประเทศมีการเพาะปลูกแล้ว 70% ของพื้นที่ หรือประมาณ 10 ล้านไร่ ในจำนวนนี้อาจต้องมีการสูญเสีย เพื่อรักษาน้ำไว้สำหรับการบริโภค อุปโภค รัฐบาลต้องมีการชดเชย หรือเยียวยาให้กับเกษตรกร ทั้งที่มีการเพาะปลูกไปแล้ว เมื่อได้ข้อสรุปจะต้องนำเสนอผู้บริหารระดับสูงหรือนายกรัฐมนตรี และสิ่งที่รัฐบาลต้องคุยกัน คือเงินที่จะจ่ายเพื่อเยียวยา ชาวนาหรือเกษตรกร นอกจากนี้ จะเสนอกระทรวงเกษตรฯ จะมีมาตรการอะไรช่วยเหลือเกษตรกรบ้าง ยอมรับว่าห่วง 13 จังหวัดภาคอีสานและอีก 10 จังหวัดภาคเหนือ ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายสภาพอากาศในช่วงวันที่ 19-21 ก.ค.62 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ตราด และจันทบุรี ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ส่วนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีฝนน้อย
ส่วนช่วงวันที่ 22-25 ก.ค. ลมมรสุมตะวันตก เฉียงใต้เลื่อนขึ้นไปพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้ ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งโดยเฉพาะในแนวรับลม มรสุม ส่วนภาคใต้จะมีฝนลดลง ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ส่งผลให้คลื่นลมในทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร