รัฐบาลไฟเขียว! พัฒนาท่าเรือบกโคราช สนับสนุนการให้บริการท่าเรือแหลมฉบัง
7 ต.ค. 2563, 12:53
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจราชการของพลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 1ตค.ที่ผ่านมานั้นเป็นการติดตามแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่3โครงการท่าเรือทางบก (Dry Port) การศึกษารูปแบบการเชื่อมโยงอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ด้วยโครงการปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกระนองและท่าเรือชุมพร โครงการพัฒนา Landbridge เชื่อมท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง และโครงการสะพานไทย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังระยะที่1 มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด 20ฟุต หรือTwenty Foot Equivalent Unit (TEU) ได้ 4.3ล้านตู้ ระยะที่2 รองรับได้ 6.8 ล้านTEU และเมื่อพัฒนาระยะที่3 เสร็จสมบูรณ์แล้วจะรองรับได้เพื่มอีก 7.0ล้านTEU รวมทั้งสิ้นเป็น 18.1ล้านTEU
ในส่วนของท่าเรือบก (Dry Port) นั้นหมายถึง บริเวณพื้นที่ตอนในของประเทศที่มีการดำเนินงานเป็นศูนย์โลจิสติกส์ซึ่งทำหน้าที่เสมือนท่าเรือ แต่ไม่มีการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงเรือ เป็นการรองรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในระบบคอนเทนเนอร์ และมีการเชื่อมต่อการขนส่งได้หลายรูปแบบ โดยมีการขนส่งทางรางเป็นหลัก และจากการศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งท่าเรือบกเพื่อสนับสนุนการให้บริการท่าเรือแหลมฉบัง พบว่าจังหวัดที่เหมาะสมคือ ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น นครราชสีมา และนครสวรรค์ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือทางบกที่ จ.ฉะเชิงเทราได้ในปี 2567 จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมาได้ในปี 2568 และ จ.นครสวรรค์ได้ในปี 2570 และคาดการณ์ปริมาณการขนส่งผ่านท่าเรือบกในปี 2565 จาก 2.8ล้านTEU เพิ่มขึ้นเป็น 4.8ล้านTEUในปี 2600
สำหรับนครราชสีมา ได้กำหนดพื้นที่ก่อสร้างไว้ 2 จุด คือที่ ต.กุดจิก อ.สูงเนิน และที่บ้านหนองน้ำขุ่น ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว ซึ่งต้องนำมาเปรียบเทียบความเหมาะสมจุดศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้า ค่าใช้จ่ายทั่วไปและลักษณะกายภาพของพื้นที่ฯ ขนาดเริ่มต้น 600 ไร่ เป็นองค์ประกอบสำคัญ รวมทั้งสามารถขยายพื้นที่ถึง 1,200 ไร่ ใช้งบลงทุน 3-7 พันล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 จุดมีพื้นที่เพียงพอ แต่ต้องศึกษาในรายละเอียดอีกครั้ง