เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.1 กำชับ กทม. เฝ้าระวังฝนตกน้ำท่วม เตรียมความพร้อมทุกจุดเสี่ยง


8 ต.ค. 2563, 16:11



มท.1 กำชับ กทม. เฝ้าระวังฝนตกน้ำท่วม เตรียมความพร้อมทุกจุดเสี่ยง




วันที่ 8 ต.ค. 2563 เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีประกาศจุดเสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ว่า กทม. ได้เตรียมความพร้อมปั๊มน้ำ และลอกท่อระบายน้ำ แต่ปัญหาคือมีฝนตกทั่ว กทม. แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องติดตามดูแลให้มีผลเรื่องน้ำท่วมน้อยที่สุด และตนได้กำชับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สิ่งที่ไม่อยากให้อ้างคือ ไฟฟ้าดับ ปั๊มทำงานไม่ได้ และให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จัดชุดเคลื่อนที่ลงพื้นที่เตรียมแก้ปัญหาในจุดที่มีปั๊มขนาดใหญ่ต้องเข้าไปดูแล พร้อมเตรียมพร่องน้ำเพื่อระบายให้ได้ตามที่เตรียมแผนไว้ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด



เวลา 12.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ไปตรวจความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 เขตห้วยขวาง แล้วก็ไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้วย เพราะต้องเตรียมพร้อมและทำงานหมุนเวียนกันตลอด 24 ชั่วโมงตลอดฤดูฝน เพื่อเดินระบบระบายน้ำ รวมถึงดูแลซ่อมบำรุงอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 ให้พร้อมทำงานเต็มที่

สำหรับอุโมงค์พระราม 9 หรือ อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นส่วนหนึ่งของระบบระบายน้ำ ที่ช่วยดึงน้ำจากคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวในพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว ไปออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเร็วขึ้น โดยไม่ต้องผ่านระบบคลองปกติซึ่งมีระยะทางไกลกว่าจะถึงแม่น้ำ และยังช่วยลดระดับน้ำในคลองระบายน้ำให้มีระดับต่ำได้รวดเร็วด้วย โดย กทม.ยังมีแผนจะขยายโครงการต่อเนื่อง โดยก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ จากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130


ส่วนอีกจุดหนึ่ง คือ แก้มลิงบึงหมู่บ้านเฟรนชิพ ซอยสุคนธสวัสดิ์ 25 ซึ่งเป็นแก้มลิงเก็บน้ำแห่งใหม่ที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยการพัฒนาบึงรับน้ำขนาดใหญ่ขนาด 40 ไร่ มาก่อสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 1,440 เมตร มีประตูระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และอุปกรณ์ควบคุม ที่จุน้ำได้ 120,000 ลูกบาศก์เมตร เชื่อมต่อลำรางออหลาวและคลองเสือใหญ่ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนสุคนธสวัสดิ์และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะกักเก็บน้ำไว้ที่แก้มลิงบึงหมู่บ้านเฟรนชิฟ ในช่วงที่ฝนตก จากนั้นจะระบายลงสู่ลำรางออหลาวและคลองเสือใหญ่เมื่อระดับน้ำในคลองลดลงต่อไป

สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังกรุงเทพฯ นั้น กทม.จะดำเนินการแก้ไขปัญหาไม่เหมือนกัน  ขึ้นอยู่กับสภาพกายภาพของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก บางแห่งทำได้เพียงติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บางแห่งมีโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำขนาดใหญ่ บางแห่งเป็นแก้มลิง หรือเป็นบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน  อย่างไรก็ตาม กทม.จะเร่งพัฒนาระบบระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ที่สุด

 

ที่มา matichon






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.