"อนุทิน" จ่อเซ็นประกาศ สธ.อนุมัติใช้ประโยชน์จากสารสกัด "กัญชง"
8 ต.ค. 2563, 16:35
วันที่ 8 ต.ค. 2563 ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน โดยมีคณะผู้บริหาร สธ. ผู้บริหาร อภ.ร่วมพิธี
นายอนุทิน กล่าวว่า นโยบายกัญชาทางการแพทย์ ถือเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และเป็นคำสัญญาที่มีให้กับประชาชน แต่สิ่งสำคัญในเรื่องการปลูกกัญชานั้น จะมุ่งไปยังยารักษาโรค นอกจากนี้สารสกัดจากกัญชายังนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ แต่ไม่ได้เอาไปใช้ทางด้านสารเสพติด ที่ผ่านมาเรามักคิดว่ากัญชาไม่ดี แต่จริง ๆ มีข้อดีด้วย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายนี้ เพราะล่าสุดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชาฉบับใหม่ ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา และส่งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป
อีกไม่กี่สัปดาห์ สธ.จะออกประกาศเกี่ยวกับพืชกัญชง เพื่อนำสารสกัดต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ และจะมีข้อผ่อนคลายต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และพืชกัญชงไม่ใช่พืชที่ถูกกำหนดให้เป็นสารเสพติด มีความคล่องตัวมากกว่ากัญชา สามารถใช้ประกาศกระทรวงฯ ได้ โดยจะเน้นปลูกและเพื่อใช้สารสกัดมาทำประโยชน์ ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบ ครม.แล้ว อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างกฎหมาย และจะส่งกลับมาที่กระทรวงฯ
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า หากส่งเรื่องกลับมาถึงตนเมื่อใด จะลงนามทันที โดยประกาศกฎกระทรวงฯ พืชกัญชง จะล้อไปกับ พ.ร.บ.กัญชา จะมีรัฐวิสาหกิจชุมชน มีคู่สัญญากัน (คอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง) เพื่อให้สามารถปลูกได้ภายใต้สัญญารับซื้อผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกัญชง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ สธ. และกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งนี้คุณภาพของสารสกัดขึ้นอยู่กับการปลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ สธ.เน้นย้ำ ให้ความรู้ในการปลูก จึงมีการให้ทำคู่สัญญา เพื่อเป็นหลักฐานวิชาการ และให้เกิดผลผลิตที่มีประโยชน์อย่างเต็มที่
นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กัญชาและกัญชงไม่ต่างกัน เพราะสิ่งที่สำคัญคือ สารสกัดที่ได้คือสารซีบีดี (CBD) และสารทีเอชซี (THC) ซึ่งจะได้มากหรือน้อยแค่ไหน ผู้ผลิตจะสามารถผสมสารประโยชน์นั้น ๆ ได้ ซึ่ง สธ.จะพยายามปลดล็อกให้ได้มากที่สุด ส่วนการเลือกพื้นที่นำร่องใน 3 จังหวัด คือ ลำปาง บุรีรัมย์ และนครราชสีมา เลือกจากความพร้อมของจังหวัด ซึ่งหากนำร่องใน 77 จังหวัดได้ ตนก็อยากให้ทำ อย่างไรก็ตามสภาพอากาศก็เป็นสิ่งสำคัญ ในโรงเรือนของ อภ.ที่ได้มาดูวันนี้ก็เป็นรูปแบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม มีการลงทุนซึ่งไม่เหมือนกับการปลูกในครัวเรือน ซึ่งหากมีการอนุญาตให้ประชาชนปลูกได้ ก็จะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และภายใต้หลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเรื่องของราคาจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ อุปทาน กลไกของตลาด นโยบายของพรรคที่ได้ทำ มีความก้าวหน้ามามาก พ.ร.บ.กัญชาฯ ก็ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ที่มีพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าผ่านรัฐสภาแล้ว ก็ไม่ต้องมาถามว่ากี่ต้น จะปลูกกี่ต้นก็ได้ ถ้าทำถูกกฎหมาย อย.เป็นผู้รับผิดชอบกฎหมาย ก็จะปรับปรุงระเบียบเพื่อให้เข้าถึงได้ ไม่ให้ติดขัดล่าช้า
ที่มา matichon