ม.มหิดลกาญจนบุรี ร่วมกับมูลนิธิ สอวน. - สพฐ.แถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลก
9 ต.ค. 2563, 08:54
วันนี้ 9 ต.ค. 63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิ สอวน.,ดร.อาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,อาจารย์ ดร.สุทัศชา หงษ์ศรีสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ร่วมแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์และอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ณ.ห้องประชุมนิลกาญจน์ อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีคณะสื่อมวลชนจากทุกแขนง คณะผู้บริหาร คณะครู อาจารย์ นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าส่วนราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแถลงข่าวกันอย่างพร้อมเพรียง โดยการจัดการแข่งขันครั้งนี้ทาง
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้รับเกียรติจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มูลนิธิ สอวน. ให้เป็นศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ รับผิดชอบในการคัดเลือกนักเรียนจากพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน จัดกิจกรรมค่ายพัฒนาความรู้ด้านธรณีศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์ เตรียมพร้อมนักเรียนเพื่อเข้าแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับนานาชาติ และอบรมให้ความรู้บุคลากรครูระดับมัธยมปลายด้านวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ภายใต้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และในปีพุทธศักราช 2561 ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 12” ภายใต้หัวข้อ Earth Science for All โดยมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพตัวแทนประเทศไทย ในการต้อนรับนักเรียนและคณาจารย์กว่า 30 ประเทศทั่วโลก นับเป็นเกียรติภูมิของประเทศไทยบนเวทีนานาชาติ และเป็นการแสดงศักยภาพทางด้านวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนและในปี 2564 มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการมูลนิธิ สอวน. อีกครั้ง ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งแรกของประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 8 - 12 พฤษภาคม 2564 เพื่อคัดเลือกนักเรียนเป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 14 ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เล็งเห็นความสำคัญของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ และมุ่งมั่นทุกสรรพกำลังที่จะพัฒนาหน่วยงานสู่ความเป็นเลิศในด้านนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเยาวชนไทย ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป
ในด้านของรองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิ สอวน. เปิดเผยว่า มูลนิธิ สอวน. มีภารกิจหลักคือการส่งเสริมให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศที่มีความสามารถในสาขาวิทยาศาสตร์ มีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ตามความถนัด ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ นอกจากนี้บทบาทของมูลนิธิ สอวน. ยังครอบคลุมถึงการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น สาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาคอมพิวเตอร์ สาขาชีววิทยา รวมถึงสาขาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ โดยจะทำการคัดเลือกนักเรียนตัวแทนประเทศไทยจำนวน 4 คน ไปแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 14 กิจกรรมการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 1 ที่จะจัดขึ้นนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการยกระดับการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ซึ่งเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้แก่ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์ เพื่อใช้อธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ รอบตัวเราเป็นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงรอบตัว เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว และเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
ด้านดร.อาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ทาง สพฐ. ให้ความสำคัญกับ มูลนิธิ สอวน. สถาบันอุดมศึกษา และสถานศึกษาในระดับมัธยมปลายทั่วประเทศเพื่อคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพ จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาทักษะความรู้ให้กับนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมให้นักเรียนมีโอกาสแสด งศักยภาพของตนเองในเวทีระดับนานาชาติ นอกจากนี้ สพฐ. ยังส่งเสริมให้มีการจัดพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศให้กับบุคลากรครู และกำหนดรายวิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ เข้าสู่โครงสร้างหลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แม้ว่าการดำเนินงานอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ทาง สพฐ. มีความมั่นใจว่านักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะได้รับความรู้ที่ลึกซึ้ง เหมาะสม และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสวัสดิภาพผู้เข้าร่วมทุกคน
ในส่วนของอาจารย์ ดร.สุทัศชา หงษ์ศรีสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการแข่งขัน คัดเลือก และอบรมเสริมสร้างทักษะความรู้วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศให้กับนักเรียน ครอบคลุมเขตพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน 9 จังหวัด โดยนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ จะได้รับการอบรมให้ความรู้ ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งในและนอกห้องเรียน จากวิทยากรผู้มีความรู้ทั้งจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมประเด็นความรู้ทางวิชาด้านธรณีวิทยา อุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์ ถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญของนักเรียนทุกคนที่ต้องการท้าทายความสามารถ เปิดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และยกระดับความสามารถสู่เวทีนานาชาติ สร้างความภูมิใจแก่ตนเอง ครอบครัว สถาบันการศึกษา และประเทศชาติ สำหรับโครงการ “การแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 1” ที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้ จะจุดประกายให้เยาวชนไทย ตลอดจนผู้ปกครอง และสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นความสำคัญของหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป