"บิ๊กป้อม" ใช้ระบบจัดการข้อมูล TPMAP แก้ปัญหายากจน-ความเหลื่อมล้ำ ใน จ.สมุทรสงคราม
9 ต.ค. 2563, 11:03
เมื่อที่ 9 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่โดยการใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ในการลงพื้นที่รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน กระบวนการดำเนินงาน และผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดสมุทรสงคราม ณ ห้องประชุม แม่กลอง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามให้การต้อนรับ บรรยายสรุปผลการดำเนินงานของจังหวัดในภาพรวม ผู้แทน สภาพัฒน์ฯ กล่าวความเป็นมาการแก้ไขปัญหาความยากจน ผู้นำชุมชน (อำเภอละ 1 คน) และครัวเรือนเป้าหมายพูดถึงการได้รับความช่วยเหลือจากจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อจากนั้น อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน สรุปผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนในภาพรวมของกรมการพัฒนาชุมชน
ทั้งนี้ ได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่โดยการใช้ระบบ TPMAP เพื่อให้การดำเนินช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการขจัดและแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศ นำไปสู่การพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น เชียงราย นครพนม นครศรีธรรมราช และอุทัยธานี ได้มีการนำเสนอตัวอย่างการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเลื่อมล้ำในระดับพื้นที่
หลังจากนั้น รองนายกรัฐมนตรี และคณะได้เยี่ยมชมนิทรรศการและพบปะกับประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือจากข้อมูลในระบบ TPMAP ระบบ TPMAP เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เพื่อเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนตลอดทุกช่วงวัยแบบชี้เป้า ซึ่งครอบคลุมถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ ซึ่งระบบ TPMAP สามารถใช้ระบุปัญหาความต้องการในการพัฒนาในแต่ละช่วงวัยได้และในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ รวมทั้งปัญหาความยากจนในมิติต่างๆ ทำให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ได้มากขึ้นและสามารถออกแบบนโยบายหรือโครงการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้อย่างตรงจุด
ดังนั้น ระบบ TPMAP จึงเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายชิ้นแรกของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งในครัวเรือนและบุคคล ส่งผลให้หน่วยงานระดับนโยบายและระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องสามารถจัดลำดับความสำคัญของครัวเรือนและบุคคลที่มีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและช่วยเหลือเร่งด่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence Base) ซึ่งข้อมูลจาก TPMAP มาจากฐานข้อมูลที่หลากหลายโดยอาศัยข้อมูลขจากเลขบัตรประชาชน 13 หลักมายืนยัน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP ในดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ร่วมมือกับภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาคนทุกช่วงวัย และการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งพัฒนาความถูกต้องและครอบคลุมของข้อมูลในระบบให้ครบถ้วนทุกพื้นที่เขตเมืองของประเทศไทย และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งงบประมาณในการให้การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยกร่างคำสั่งที่เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานและภาคีการพัฒนาต่างๆ พัฒนาระบบ TPMAP ให้มีข้อมูลและประเด็นการพัฒนาที่ครอบคลุมมิติการแก้ปัญหาความยากจนและมิติการพัฒนาต่างๆ