บกปภ.ช.สั่งทุกจังหวัดเตรียมรับมือพายุโซนร้อน "หลิ่นฟา" 11-12 ต.ค.นี้
11 ต.ค. 2563, 17:38
วันนี้ ( 11 ต.ค.63 ) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า พายุระดับ 3 (โซนร้อน) "หลิ่นฟา" ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนามแล้ว มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งพายุนี้มีแนวโน้มอ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) และพายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) ตามลำดับ และส่งผลกระทบให้ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงในช่วงวันที่ 11-12 ตุลาคม 63 ทำให้ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อให้การรับมือผลกระทบจากสถานการณ์พายุ "หลิ่นฟา" เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทุกจังหวัดถือปฏิบัติตามแนวทางการเผชิญเหตุโดยเคร่งครัด และให้ความสำคัญในการดำเนินการตามแนวทาง 5 ด้าน ได้แก่ 1) ให้คณะทำงานติดตามสถานการณ์ของจังหวัด ติดตาม ประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการในแต่ละระดับ และหากมีแนวโน้มเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้สั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่จัดเตรียมไว้โดยทันที 2) แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ พร้อมกำชับให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสา ให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรองรับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ
3) ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ เรือยนต์กู้ภัย เรือท้องแบน รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย ฯลฯ ให้มีความพร้อมในการเผชิญเหตุช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง 4) ให้แบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ หน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยซ้ำ ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้ระดมสรรพกำลังเร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ และให้ความสำคัญกับการจัดระบบดูแลประชาชนให้มีสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ และ 5) ในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ให้ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ชายทะเล เร่งสื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวัง และห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรง พร้อมประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ และตำรวจน้ำในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด ในการนำเรือเข้าที่กำบัง และห้ามการเดินเรือช่วงมีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า บกปภ.ช. ได้เน้นย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเร่งดำเนินการเตรียมการรับมือตามแผนเผชิญเหตุ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยพี่น้องประชาชนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง