เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา" นำทีมงานเดินสาย สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผา


22 ก.ค. 2562, 20:44



"ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา" นำทีมงานเดินสาย สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผา




ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา หัวหน้าโครงการออกแบบและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปประเภทเครื่องปั้นดินเผาในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตพร้อมนักออกแบบฝีมือดี และ ดร.ประดิษฐ์ นัดทะยาย หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน ได้เดินทางไปยังที่บ้านกุดกวางสร้อย อำเภอโนนสังข์ จังหวัดหนองบัวลำภู ถิ่นอารยธรรมเครื่องปั้นดินเผาของ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งตามประวัติศาสตร์พบว่าที่บ้านแห่งนี้ มีการขุดพบวัตถุโบราณประเภทเครื่องปั้นดินเผาคล้ายกับบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี โดยมีลักษณะลายที่เป็นเอกลักษณ์ ทางจังหวัดหนองบัวลำภูจึงอยากให้ทีมงานนักออกแบบลงพื้นที่เพื่อแกะและนำลายดังกล่าวมาเขียนในเครื่องปั้นดินเผา เพื่อสร้างให้เป็นเอกลักษณ์ลายเครื่องปั้นดินเผาของจังหวัดหนองบัวลำภู และเพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้านำไปจำหน่ายในระดับต่อไป
 

 

ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา หัวหน้าโครงการออกแบบและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปประเภทเครื่องปั้นดินเผาในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า การช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในแต่ละชุมชนถิ่นอีสาน เช่น เครื่องปั้นดินเผาลายบ้านเชียง หรือที่บ้านกุดกวางสร้อย อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านในรุ่นก่อนที่สร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง ถือเป็นอารยธรรมของคนรุ่นเก่าที่บ่งบอกถึงอารยธรรมของถิ่นอีสาน

ทั้งนี้การมาช่วยชาวบ้านออกแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าในภาคอีสาน เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตกับสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านที่ตอนนี้มีคนในชุมชนสืบทอดอยู่แล้วไม่ว่าจะที่ชุมชนบ้านเชียงหรือที่บ้านกุดกวางสร้อย อารยธรรมของคนในสมัยก่อนจะคล้ายๆ กันคือภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่พบมีลักษณะเป็นแจกันคล้ายกับของบ้านเชียง แต่มีความเป็นเอกลักษณ์คือคอของแจกันจะสั้นกว่าของบ้านเชียง ในส่วนลายของเครื่องปั้นดินเผา บางส่วนคล้ายกับลายบ้านเชียง แต่บางส่วนมีลักษณะลายที่แตกต่างจากบ้านเชียง โดยมีลายเป็นลักษณะการใช้เชือกที่ทำจากต้นพืชทาบให้เกิดลายเส้น และลายที่เกิดจากการใช้ของแข็งขูดเป็นเกรียวคลื่น

ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา  กล่าวต่อไปว่า ทางทีมงานจึงได้แกะลายดังกล่าวแล้วนำมาเขียนลงในเครื่องปั้นดินเผาในยุคปัจจุบัน และนำเสนอความเห็นจากประชาชนในพื้นที่และทางจังหวัด ซึ่งก็เห็นด้วยกับลายดังกล่าว จึงได้นำลายดังกล่าวมาเขียนลงในเครื่องปั้นดินเผาโดยประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย เช่น โคมไฟ แจกันใหญ่สำหรับโชว์ แก้วกาแฟ โอ่งดินเผา เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดหนองบัวลำภู เหมือนกับลายบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเหล่านี้ให้สู่ระดับสากล ซึ่งการช่วยชาวบ้านออกแบบมีชาวบ้านทั้งบ้านบ้านเชียงและกุดกวาดสร้อยสนใจมาร่วมจำนวนมาก ซึ่งเราจะเดินสายสอนชาวบ้านเพื่อการพัฒนาทำให้เครื่องปั้นดินเผาให้เบาและมีความแข็งแรงทนทาน สำหรับการออกแบบเพิ่มมูลค่าเครื่องปั้นดินเผาแก่ชาวบ้านแต่ละพื้นที่คาดว่าจะยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ชาวบ้าน ถือเป็นมิติใหม่ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในภาคอีสาน ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา มั่นใจว่าร่องรอยและลวดลายอารยธรรมเหล่านี้จะเพิ่มมูลค่าของสินค้าสู่สากลและเป็นเอกลักษณ์ของคนอีสานให้มั่นคงสืบไป

 

 



 

 

 


 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.