"อนุชา" เผย ความเห็นที่แตกต่างในสังคมประชาธิปไตยเป็นเรื่องถูกต้อง-วอนหันหน้าหาทางออกร่วมกัน เพื่อประเทศชาติ
20 ต.ค. 2563, 11:27
วันนี้ (20 ตุลาคม 2563) เวลา 08.00 น. ณ บริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ จะมีการหารือในที่ประชุมครม.หรือไม่นั้นว่า จากที่เข้าร่วมประชุมกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านที่ประชุมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีความคิดเห็นตรงกันสมควรที่จะเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะมีการลงรายชื่อเพื่อให้เปิดประชุม แต่ก็ได้ข้อสรุปว่าให้นายชวนทำหนังสือเสนอมายัง ครม. เพื่อขอความเห็นชอบเปิดประชุมวิสามัญ อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 165 โดย เมื่อวานนี้ นายชวน หลีกภัยฯ ได้ทำหนังสือส่งมายังนายกฯเพื่อให้ทันในการประชุมครม.วันนี้ แล้ว
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า มติที่ประชุมเพียงยื่นมาแค่ขอเปิดประชุมรัฐสภาเท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าเป็นวันไหนเพราะต้องมีขั้นตอน ในการออกพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ซึ่งยังไม่ทราบขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่ง ครม. จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้เวลากี่วัน ซึ่งเมื่อเปิดประชุมฯ แล้วต้องพูดคุยกัน โดยยังไม่ได้สรุปประเด็นว่าจะพูดคุยหารือในประเด็นใดบ้าง แต่ทุกปัญหาจะนำเข้าสู่ที่ประชุม
สำหรับกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะยังไม่รอการประชุมของรัฐสภา เพราะมีการยื่นเงื่อนไข ให้ทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ภายใน 24 ชั่วโมงนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นความเห็นที่แตกต่าง ยืนยันว่าความเห็นที่แตกต่างจะต้องนำไปพิจารณาในสภา เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องอื่น ๆ เป็นเพียงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตนพูดในฐานะสมาชิกรัฐสภา
ทั้งนี้ ในสังคมประชาธิปไตยการเรียกร้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าการบังคับหรือขู่เข็ญไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และบางเรื่องแต่ละพรรคการเมืองมีจุดยืนอยู่แล้ว เช่น ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องสถาบัน จึงอยากฝากถึงผู้ชุมนุมและนักศึกษาว่าสิ่งที่เราพยายามทำนั้นทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่ทุกความเห็นจะต้องไปในทิศทางเดียวกันคงต้องมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ตามทุกคนอยากเห็นว่าเวทีรัฐสภา สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้หรือไม่ในฐานะนักการเมืองเราอยากทำตรงนั้นให้เกิดขึ้น ส่วนตัวคิดว่าอาจใช้เวลาพูดคุยในสภาประมาณ 1-3 วัน เชื่อว่าคงได้ข้อสรุปว่าจะไปในทิศทางไหน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม้เวลาแค่ 1-2 ชั่วโมง เราก็เห็นตรงกันว่ามีค่าสำหรับการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน เราจะมีมติออกมาร่วมกัน ซึ่งนักการเมืองทุกคนก็อยากเห็นความสงบสุข หากการประชุมผ่านไปแล้วแต่ม็อบยังคงอยู่ ค่อยหาวิธีที่จะมีบทสรุปร่วมกันอย่างสันติวิธีต่อไป