ประธานศาลฎีกาคนใหม่ ประกาศนโยบาย 5 ส.
22 ต.ค. 2563, 16:08
วันที่ 22 ต.ค. 2563 นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา คนที่ 46 ได้ประกาศนโยบายหลังเข้าดำรงตำเเหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีนโยบายหลัก 5 ด้าน (5 ส.) เสมอภาค, สมดุล, สร้างสรรค์, ส่งเสริม และส่วนรวม
1.ความเสมอภาค โดยมุ่งให้ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาค พัฒนาระบบงานศาลยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ในความบริสุทธิ์ยุติธรรมโปร่งใสและตรวจสอบความคืบหน้าของคดีได้ กระจายการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสู่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ลดขั้นตอนลดภาระค่าใช้จ่ายลดระยะเวลาในการดำเนินคดีและปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม ประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างเข้าถึงและเข้าใจเพื่อความเสมอภาคในการรับรู้ถึงสิทธิของตน สร้างกลไกหรือวิธีการที่ศาลจะได้รับข้อมูลรอบด้านอย่างครบถ้วนและเปิดเผยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและเพื่อให้การใช้ดุลพินิจเป็นไปอย่างเข้าใจสังคม
2.สมดุล ศาลต้องสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอนยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยระหว่างการต่อสู้คดีในศาลยกระดับการคุ้มครองสิทธิแก่ผู้เสียหายเหยื่ออาชญากรรมในคดีอาญาและพยาน
3.สร้างสรรค์ ต้องสร้างกลไกการดำเนินกระบวนพิจารณาและการพิพากษาคดีที่ทันสมัยพัฒนากลไกและระบบการดำเนินคดีที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ความปลอดภัยของประชาชนและเศรษฐกิจสังคมของประเทศให้มีประสิทธิภาพเป็นธรรมและสอดคล้องกับบริบทของสังคมพัฒนาระบบเจ้าพนักงานคดีเพื่อให้มีบทบาทสนับสนุนการพิจารณาคดีของศาลเพิ่มขึ้น พัฒนาระบบการตรวจร่างคำสั่งหรือคำพิพากษาในทุกชั้นศาลและ การประชุมคดีในศาลสูงโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
4.ส่งเสริม โดยส่งเสริมความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการและให้ความสำคัญแก่คุณภาพชีวิตของบุคลากร ยกระดับสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมให้เป็นสถาบันหลักทางวิชาการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาได้ทำงานด้านวิชาการโดยเฉพาะอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากงานด้านการพิจารณาพิพากษาคดี จัดอัตรากำลังบุคลากรให้เหมาะสมสอดคล้องกับภาระงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพส่งเสริมให้บุคลากรได้พัฒนากายและจิตเพื่อสร้างดุลยภาพในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ส่งเสริมให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างเป็นธรรมและได้รับค่าตอบแทนที่สัมพันธ์กับความรู้ความสามารถหน้าที่ความรับผิดชอบตลอดจนระยะเวลาการทำงาน
5.ส่วนร่วม สนับสนุนให้เกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมสร้างช่องทางการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งอย่างเป็นระบบสำหรับบุคลากรภายในเพื่อประสานความร่วมมือและเสริมสร้างความรักสามัคคีสร้างการรับรู้ลดช่องว่างและส่งเสริมการมีส่วนร่วมสำหรับบุคลากรภายนอกในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาและการพัฒนางานศาลยุติธรรมที่ยั่งยืน
ที่มา matichon