ปิดเส้นทางเข้าออกไทย-มาเลเซีย ที่สุไหงโก-ลก ช่วงโควิด-1
26 ต.ค. 2563, 09:55
วันที่ 25 ต.ค. 63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานข่าว คนไทยในประเทศมาเลเซียจำเป็นต้องตระหนักกับการปฏิบัติตามกฎเมื่อต้องการกลับเข้ามา ในราชอาณาจักร ในห้วงสถานการณ์บ้านเมืองปกติ ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก คือเส้นเลือดสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนชายแดนใต้ที่จังหวัดนราธิวาส ตามวิถีของการพึ่งพาอาศัยในรูปแบบการไปมาหาสู่ และการค้าขาย ประชาชนในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก เดินทางข้ามแดนด้วยเรือโดยสารผ่านจุดผ่อนปรน และท่าข้ามในทุก ๆ วันโดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่า เมื่อถึงวันหนึ่งที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้นภายในประเทศไทยและหลายประเทศ ทั่วโลก ทำให้ช่องทางธรรมชาติที่ผู้คนใช้เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันจะต้องถูกปิดตัวอย่างไม่มีกำหน และหากใครเดินทางเข้ามาด้วยช่องทางนี้ โดยไม่ผ่านกระบวนการคัดกรองและกักกันจะถูกสังคมต่อต้าน ในการอนุญาตให้เข้าพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย แต่ก็ยังมีบุคคลบางกลุ่มพยายามลักลอบเข้ามา โดยขาดความรับผิดชอบ ทั้งที่ปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดในประเทศมาเลเซียยังมีอยู่สูงมากจากการพบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกวันอย่างต่อเนื่อง
นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ระดมเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการลาดตระเวนและตั้งจุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่ตามแนวชายแดนภาคใต้ อย่างเข้มงวด พร้อมขอความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประธานชุมชนช่วยตรวจตราสอดส่องลูกบ้าน ที่อาจลักลอบเข้ามาโดยไม่ได้รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ แต่ก็ยังพบประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ลักลอบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติโดยไม่ผ่านกระบวนการคัดกรองและกักกัน อีกทั้งทางครอบครัวก็ช่วยสนับสนุนการทำผิดด้วยการปิดบังเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลบางกลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์โดยทำหน้าที่เป็นนายหน้าพากลับภูมิลำเนาโดยไม่รายงานตัว จึงส่งผลให้อำเภอสุไหงโก-ลกและจังหวัดชายแดนภาคใต้เสี่ยงต่อการ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากบุคคลที่เดินทางกลับเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่ดีที่สุด คือ คนไทยในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งครอบครัวและญาติพี่น้องที่อยู่ในประเทศไทย รวมทั้งขบวนการ นำคนไทยกลับเข้าประเทศโดยหวังเพียงค่าจ้างแต่ไม่นึกถึงความปลอดภัยของส่วนรวม ที่ต้องมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ให้แก่ส่วนรวมมากขึ้น
ทั้งนี้หากคนไทยในประเทศมาเลเซีย ยังคงเดินทางเข้าออกประเทศไทย โดยยึดวิถีชีวิตในอดีตและปฏิบัติตัวตามปกติโดยไม่ผ่านกระบวนการคัดกรองและกักกันป้องกันไวรัสโควิด-19 เมื่อพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศในพื้นที่ตามแนวชายแดนของจังหวัดนราธิวาสอีกครั้ง ความเสียหายที่จะตามมา อาจไม่ใช่แค่เพียงการปิดน่านน้ำตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกอย่างถาวร แต่รวมถึงความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของประชาชนทั้งจังหวัดนราธิวาส และต่อเนื่องไปทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะต้องปิดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระดับที่เข้มงวดอีกครั้ง เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ติดง่ายจากคนสู่คน และติดง่ายมากขึ้นเมื่อการ์ดเริ่มตก หน้ากากสวมอยู่ใต้คาง ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม และไม่ล้างมือบ่อย ๆ
ชีวิตคนชายแดนใต้ ฝากชีวิตไว้กับพี่น้องคนไทยในประเทศมาเลเซีย ด้วยตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563 ประเทศมาเลเซียมีสถิติพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยสถิติสูงสุดในระลอกที่ 3 คือ 1,288 คน และเสียชีวิต 7 คน ดังนั้นหากทุกคนขาดการตระหนักรู้และไม่ร่วมเคารพกฎ ด้วยการลักลอบเข้ามาโดยไม่เข้ารายงานตัว ผ่านกระบวนการคัดกรองและกักกัน ก็จะทำให้คนไทยส่วนรวมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเสี่ยง จากโควิด-19 มากขึ้นและแน่นอนว่าจะต้องกระทบไปถึงวิถีชีวิตของคนไทยทั้งประเทศด้วย