เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สรุปประชุมสภาฯ 26 ต.ค. "พล.อ.ประยุทธ์" ย้ำ รบ.ไม่นิ่งนอนใจเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาเต็มที่


26 ต.ค. 2563, 20:49



สรุปประชุมสภาฯ 26 ต.ค. "พล.อ.ประยุทธ์" ย้ำ รบ.ไม่นิ่งนอนใจเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาเต็มที่




วันนี้ ( 26 ต.ค.63 ) ตั้งแต่ช่วงเช้าเวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ชั้น 2 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ)  รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หวังใช้เวทีการประชุมรัฐสภาร่วมหาทางออกร่วมกัน เชื่อทุกฝ่ายมีความรักบ้านเมืองและแก้ปัญหาให้ผ่านไปด้วยกัน 
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ว่า เสนอการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีข้อเท็จจริง คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19  (COVID-19)  มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการที่ห้ามหรือควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักเดินทางต่างประเทศที่ประสงค์จะเข้ามาลงทุนด้านธุรกิจ รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยว การแข่งขันกีฬา หรือการใช้บริการสาธารณสุขในประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ  ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังหามาตรการผ่อนปรน เพื่อให้มีผลทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย  นอกจากนี้ ยังมี สถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในต่างจังหวัด  รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก  ในสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้รัฐบาลต้องระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดิน ลดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ และการเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ



นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 การชุมนุมมีการพักค้างคืน อาจยืดเยื้อ มีความผิดตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ 2558 และอาจมีผู้ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกซึมทำให้เกิดความวุ่นวายได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 มาตรา 11 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการที่จะออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  และประกาศไว้ตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นเวลา 30 วันจนถึง 23 พฤศจิกายน 2563   ซึ่งได้ยกเลิกแล้ว 
 
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ รวมถึงการเรียกร้องให้ปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัว ได้แก่  การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันนั้นว่า  หลายเรื่องอยู่ในขั้นตอนการการดำเนินการอยู่แล้ว  ปัจจุบันศาลได้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวหลายราย แม้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่บางแห่งมีความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐบาลมีหน้าที่ในการรักษาสิทธิของคนไทยทุกคนทั้งประเทศซึ่งมี 70 ล้านคน ยืนยันเจ้าหน้าที่ตำรวจ รัฐบาล พยายามที่จะดูแลสถานการณ์การชุมนุมอย่างอะลุ่มอล่วยและผ่อนผัน ยึดหลักการใช้กฎหมาย  
 
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าวันนี้คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีมุมมองด้านการเมืองอย่างไร แบบไหน แต่เชื่อว่าทุกคนยังคงรักชาติ รักษ์วัฒนธรรม รากเหง้า และคุณค่าของความเป็นไทยอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องการอนาคตที่ดีสำหรับประชาชนและประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลก็ยังดำเนินการอยู่มาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ซึ่งเป็น 2 มิติ ทั้งรักในรากเหง้าความเป็นไทย และความต้องการอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานเยาวชนซึ่งเราต้องร่วมกันแก้เพื่อที่นำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นอย่างมีหลักการและเหตุผล มีความถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง  และไม่ทำลายอดีตที่มีคุณค่าของเรา เพื่อให้สังคมที่แข็งแรง และเป็นสังคมที่มีรากเหง้าอย่างล้ำลึกเข้าไปในหัวใจของคนไทยทุกคน ทั้งนี้สังคมที่ดีมีรากเหง้าที่ดีจะหยั่งรากลึก และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป


ถัดมาในเวลา 15.25 น. พลเอก ประยุทธ์ กล่าวอีกว่าเมื่อวันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563 โดยได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อมาหารือร่วมกันว่า ควรจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาอย่างไร ซึ่งได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้ว ว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้  รัฐสภาจะพิจารณารัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะเสร็จในวาระที่ 1 2 3 ในธันวาคมโดยประมาณ แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้เพราะต้องรอลงประชามติก่อน โดยสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเสนอ(ร่าง) พ.ร.บ.ประชามติเข้าสภา เมื่อ (ร่าง) พ.ร.บ. เสร็จเมื่อใด ก็ต้องไปทำประชามติกันเมื่อนั้น แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากนั้น เวลา 15.45 น. นายกรัฐมนตรี ระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากสมาชิกรัฐสภาทั้งกรณีให้นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภาหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในทุกเรื่องพร้อมพยายามหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุด ทั้งนี้ ได้มีการปรึกษาคณะทำงานด้านกฎหมาย กรณีหากนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง จะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) ความว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่จากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยต้องมีมติเสี่ยงกึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องรวมทั้งส.ส.และ ส.ว. ด้วย ซึ่งยังไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง  จึงจำเป็นต้องมี ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย กรณีการยุบสภาจะส่งผลให้ ครม. พ้นตำแหน่ง ส.ส. พ้นจากตำแหน่งและสิ้นสุดลง ด้วยเช่นกัน

โดยในช่วงเย็น 17.22 น. พลเอกประยุทธ์ ได้ลุกขึ้น ชี้แจงว่า ขอทำความเข้าใจ กรณีที่ตนได้กล่าวถึงพญามัจจุราชนั้น  เนื่องจากเป็นช่วงที่ได้ไปร่วมงานศพบ่อยครั้ง และได้ฟังบทพระสวด ทำความเข้าใจ เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ประมาท ไม่ได้มีเจตนาที่จะขู่ใคร
 
ในส่วนของ การอภิปรายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้น มีบทบัญญัติ มีกฎหมายลูก การเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 นั้น ไม่ต้องการระบุถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่สาเหตุที่ต้องออกกฎหมายพิเศษในวันที่ 15 ต.ค. 2563 นั้น เกิดจากการข่าวที่มีการระบุว่าอาจมีเหตุการณ์ลุกลาม จึงต้องออกกฎหมายพิเศษเพื่อป้องกัน ดูแล ยุติการลุกลามของเหตุการณ์ อย่างไรก็ดี พ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 แล้ว และเมื่อรัฐบาลพิจารณาแล้วก็ได้มีการยกเลิกประกาศตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปแล้ว






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.