"องค์การอนามัยโลก" ประกาศรับรองให้ "ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ" เป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งอย่างเป็นทางการ
30 พ.ค. 2562, 11:33
ช่วงนี้หลายต่อหลายคนให้ความสนใจหันมาตรวจสอบภาวะซึมเศร้าของตัวเอง และอาจจะค้นพบว่าอาการความทุกข์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น เครียด หดหู่ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน หงุดหงิด ก้าวร้าว ร่างกายอ่อนแรง ไม่มีสมาธิ ฯลฯ ซึ่งเข้าข่ายอาการของโรคซึมเศร้า จนทำให้เกิดความกังวลว่าตนเองป่วยเป็นโรคดังกล่าวหรือเปล่า?
แต่แท้จริงแล้ว อาการต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดถึงภาวะซึมเศร้าได้อย่างชัดเจนเสียทีเดียว แต่อาจจะเป็นตัวชี้วัดว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout) ในการทำงานเท่านั้น
และหากคุณพบว่าตนเองเข้าข่ายอยู่ในภาวะนี้แล้วล่ะก็ คุณต้องเพิ่มเวลาการพักผ่อนและเริ่มปรับสมดุลการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงานในทันที เพราะหากไม่รักษาและแก้ไข การอยู่ในอาการนี้นาน ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็น “โรคซึมเศร้า” ซึ่งจะใช้เวลารักษายาวนานเลยทีเดียว
ซึ่งเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศให้โรคหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome จัดอยู่ในบัญชีโรคภัยไข้เจ็บใหม่ ๆ หรือบัญชีที่มีชื่อเรียกว่า ICD-11 ซึ่งทำให้โรคนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานในการวิฉิจฉัยโรคและได้รับการประกันสุขภาพทั่วโลก โดยแพทย์ต้องประเมินวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยร่วมกับระดับความเครียดและภาวะอารมณ์ ก่อนจะจัดให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในกลุ่มโรคอาการเบิร์นเอ้าท์
ลักษณะอาการที่เข้าข่ายมีภาวะ Burnout นี้คือ 1. รู้สึกไม่ตื่นเต้นกับงานที่ทำอีกต่อไป 2. หยุดความพยายามในการทำงาน 3. ทำงานไปวันๆ 4. รู้สึกหมดพลัง หมดแรงในการทำงาน 5. มีอาการทางร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ เจ็บหน้าอก ปวดหัว ป่วย ใจสั่น หายใจลำบาก เวียนหัว อาเจียน ปวดท้อง เป็นต้น
โดยสมาชิกองค์การอนามัยโลก 194 ประเทศ ลงนามรับรอง ICD-11 พร้อมนำมาเป็นแนวทางในการปรับใช้เพื่อดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022