รองอธิบดีกรมชลฯ ติดตามโครงการคลองชุมพร งบ 2 พันล้าน ล่าสุดคืบหน้า 40 %
30 ต.ค. 2563, 17:53
(30 ต.ค.63) นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.บ้านนา อ.เมือง จ.ชุมพร เพื่อติดตามความคืบหน้า การก่อสร้างประตูระบายน้ำโครงการคลองผันน้ำคลองชุมพร ซึ่งเป็นโครงการป้องกันอุทกภัย ที่กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2558 กำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2566 ปัจจุบันมีความคืบหน้าประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่ราบลุ่มคลองชุมพร เป็นพื้นที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเฉพาะถนนเอเชีย 41 ซึ่งเป็นถนนสายหลัก จะถูกน้ำท่วมปีละหลายครั้ง ทำให้การสัญจรเดินทางขึ้น-ลงภาคใต้ เป็นไปด้วยความลำบาก กรมชลประทาน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการขุดคลองผันน้ำ ลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (ลุ่มน้ำคลองชุมพร) ใช้งบ กว่า 2,000 ล้าน กำหนดแผนงานการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระหว่างปี 2558-2562 เป็นงานขุดคลองผันน้ำช่วงคลองนาคราช ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร งานขุดขยายคลองชุมพรช่วงปลายบริเวณเหนือ ประตูระบายน้ำตอนล่างให้สามารถระบายน้ำได้ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
แผนงานระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2563-2566 เป็นงานขุดคลองผันน้ำใหม่เชื่อมคลองชุมพร-คลองนาคราช ให้สามารถระบายน้ำได้ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีระยะทาง 3.3กิโลเมตร งานขุดขยายคลองชุมพรช่วงปลาย ตั้งแต่ท้าย ประตูระบายน้ำ ตอนล่าง ถึงสะพานทุ่งคา ให้สามารถระบายน้ำได้ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที งานก่อสร้างประตูควบคุมบังคับน้ำจำนวน 4แห่ง พร้อมอาคารประกอบ อาคารระบายน้ำ และงานขุดขยายคลองชุมพรเดิม ช่วงบนให้สามารถระบายน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
คลองผันน้ำคลองชุมพร ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้ หลังจาก ตัวเมืองชุมพร ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 และเป็นที่มีของโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ตามพระราชดำริ หรือ แก้มลิงหนองใหญ่ โครงการชลประทานตัวอย่างด้านบริหารจัดการน้ำ ที่ประสบความสำคัญ ทำให้ ตัวเมืองชุมพรรอดพ้นจาก อุทกภัย ถึงปัจจุบัน
หากโครงการ นี้ แล้วเสร็จ จะสามารถ บรรเทาอุทกภัย ในพื้นที่เขตอำเภอเมืองชุมพร 6 ตำบล พื้นที่กว่า 3 หมื่น 7 พัน ไร่ บรรเทาความเดือนร้อนแก่ประชาชน ได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่น 6 พัน ครัวเรือน และ ที่สำคัญ จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนสายเอเชีย 41 ใกล้ แยกปฐมพร ได้อย่างถาวร
นอกจากนี้ประตูระบายน้ำทั้ง 4 แห่ง จะทำหน้าที่ เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง กว่า 6.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ กว่า 6 พัน 8 ร้อย ไร่ ความคืบหน้าการก่อสร้างภาพรวมทั้งโครงการ แล้วเสร็จประมาณ ร้อยละ 30-40 ถ้าเป็นไปตามแผนจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ในปี 2566 นี้