สจล. ชุมพร ฝึกซ้อมงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี 2563 ญาติแห่ยินดีบัณฑิตใหม่
1 พ.ย. 2563, 19:54
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร เขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ฝึกซ้อมงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2562 ณ บริเวณลานพระอาทิตย์ และห้องดาวดึงส์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ รุ่นพระแสง รองอธิการบดี สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์วิกฤติ Covid-19 ผ่านพ้นไป สังคมของเรา ก็จะก้าวเข้าสู่ยุค New Normal กันอย่างเต็มตัว สถาบันอุดมศึกษาก็เช่นเดียวกัน ต้องปรับเปลี่ยนอย่างมาก ต้องสร้างคนที่มีทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ต้องพัฒนาผู้เรียนตามความถนัดของตนเอง ต้องจัดการศึกษา แบบบูรณาการเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และผู้เรียนต้องสามารถปฏิบัติงานได้ในแนวทาง “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” ตามนโยบายรัฐบาลและความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป โดยในปี พ.ศ. 2563
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ได้ผลิตบัณฑิตออกรับใช้สังคม จำนวน 401 คน บัณฑิตคุณภาพเหล่านี้ผ่านกระบวนการศึกษา ที่เรียกว่า Learning by Doing คือ จัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้เรียนจากของจริงลงมือปฏิบัติจริงตอบโจทย์ยุค New Normal ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2564 นี้ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรและแนวทางการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทุกหลักสูตรได้ร่วมมือกับองค์กรภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. หลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล 2. หลักสูตรวิศวกรรมพลังงาน 3. หลักสูตรวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ 4. หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร 5. หลักสูตรวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 6. หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 7. หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 8. หลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการผลิตพืช 9. หลักสูตรการผลิตและธุรกิจปศุสัตว์ 10. หลักสูตรการผลิตและธุรกิจสัตว์เลี้ยง 11. หลักสูตรวิทยาศาสตร์การประมงและทรัพยากรทางน้ำ 12. หลักสูตรนวัตกรรมอาหารและการจัดการ 13. หลักสูตรบริหารธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ
และเร็วๆ นี้ กำลังนำเสนอเปิดหลักสูตรปริญญาตรี ปวส.ต่อเนื่อง สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช ด้วยศาสตร์พระราชา โดยขณะนี้กำลังเปิดรับสมัคร ปวส. เข้าเรียนต่อปริญญาตรี จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ส่วน ม.6 และ ปวช. จะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.pcc.kmitl.ac.th ด้วยการออกแบบหลักสูตรใหม่ที่ได้ร่วมมือกับองค์กรภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ นักศึกษา ทุกหลักสูตรต้องเรียนเรื่องของ AI (หุ่นยนต์ / ปัญญาประดิษฐ์) เพื่อตอบโจทย์ยุค New Normal จึงจัดโครงสร้างหลักสูตรที่ประกอบด้วยกลุ่มวิชา (Module) ที่ผู้เรียนสามารถเรียนกลุ่มวิชาแกนของหลักสูตรแล้ว ยังสามารถข้ามศาสตร์ไปเรียนกลุ่มวิชาที่ตนเองสนใจได้ และบังคับต้องไปเรียนกับองค์กรภาคธุรกิจอีกส่วนหนึ่ง จึงเป็นที่มาของ “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” อาทิเช่น เรียนวิศวะ แต่โครงสร้าง หลักสูตรกำหนดให้สามารถเลือกเรียนบริหารธุรกิจ หรือการเกษตรหรืออื่น ๆ ตามที่ตัวเองสนใจได้อีก และข้อดีของการจัดกลุ่มวิชาแบบนี้ ยังรองรับให้น้องๆ ในระดับมัธยมศึกษาและพี่น้องประชาชนทั่วไปเลือกเรียนในบางวิชาที่สนใจคู่ขนานไปกับนักศึกษาในหลักสูตรของ สจล. แบบเก็บสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) จะใช้เพื่อนำไปประกอบอาชีพหรือสะสมหน่วยกิต และมาเรียนส่วนที่เหลือเพื่อสำเร็จการศึกษาจนรับปริญญาของ สจล. ก็ได้ นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จของสถาบัน อุดมศึกษา ที่เป็นแบบอย่างการผลิตบัณฑิตยุค New Normal อย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบรรยากาศในการฝึกซ้อมงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เต็มไปด้วยความอบอุ่นด้วยบรรดาญาติของนักศึกษาเดินทางมาเป็นจำนวนมากพร้อมช่อดอกไม้และนำของที่ระลึกร่วมแสดงกับลูกหลานที่เป็นนักศึกษาในวันฝึกซ้อมงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วย
นางจิรา ศรีเทพ อายุ 44 ปี ชาวอำเภอบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี มารดา นายสุเมธ หนึ่งในนักศึกษาระดับปริญญาตรี พร้อมด้วยลูกชายวัย 11 ปี และเด็กหญิง กอหญ้า วัย 6 ปี เดินทางมาชมการฝึกซ้อมโดยนำแบงค์ใบละ 20 บาท ประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยเป็นเงินจำนวน 500 บาท และของที่ระลึกมามอบให้กับลูกชายเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในครั้งนี้ด้วย โดยนางจิรา กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ลูกชายเรียนจบและได้ทำงาน