"กรมอนามัย" แนะประชาชนเตรียมรับมือฝุ่น PM2.5 หนุนใช้ 6 มาตรการป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
7 พ.ย. 2563, 11:12
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งมักจะมาในช่วงฤดูหนาวเพราะความกดอากาศต่ำ ก่อให้เกิดผลกระทบสุขภาพทั้งระยะเฉียบพลัน เช่น อาการระคายเคืองตา แสบคอ แสบจมูก เลือดกำเดาไหล และระยะยาวคือ เป็นโรคหอบหืด มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดและหัวใจ เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และผู้มีโรคประจำตัว ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่นละออง จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตรวมร้อยละ 0.6 กรณีการเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางหายใจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ดำเนินการภายใต้ 6 มาตรการสำคัญ ได้แก่ เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย เฝ้าระวังการเจ็บป่วย สื่อสารสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ ในทุกระดับ ให้สามารถดูแลสุขภาพและการป้องกันตนเองได้ เปิดคลินิกมลพิษในพื้นที่เสี่ยงครอบคลุมทั้ง 13 เขตสุขภาพ ใช้มาตรการกฎหมาย ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่ภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และสร้างองค์กรต้นแบบลดฝุ่น โดยสร้างพื้นที่สีเขียว ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ทั้งนี้ ได้ดำเนินงานเชื่อมโยงหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและภูมิภาค พร้อมทั้งบูรณาการเครือข่ายในพื้นที่ให้เกิดการทำงาน แบบบูรณาการทุกภาคส่วน