มูลนิธิหลวงปู่สรวงเปิดตลาดวัฒนธรรม ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19
7 พ.ย. 2563, 19:43
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรมวัดไพรพัฒนา (บายตึ๊กเจีย) ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ นายนพ พงศ์ผลาดิสัย ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรมวัดไพรพัฒนา (บายตึ๊กเจีย) ซึ่งพระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ.) และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา ได้เปิดตลาดนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ตลาดใหม่ รวมทั้งขยายพื้นที่เดิมสำหรับรองรับการจัดจำหน่ายสินค้าที่กระจายตัวอย่างทั่วถึง มีการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งบายตึ๊กเจีย และวงดนตรีผกาลำดวน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ให้ผู้มาร่วมงานได้ชม และมีพ่อค้า แม่ค้าของ จ.ศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียงที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา นำเอาสินค้าพื้นเมืองและสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มาวางขาย จำนวน 300 ร้าน มีประชาชนทั่วไปพากันมาหาเลือกซื้อสินค้ากันอย่างคึกคักมาก โดยมี นายอรรคพล อรรคบุตร นายอำเภอภูสิงห์ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิธีและให้การต้อนรับ
นายนพ พงศ์ผลาดิศัย ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การเปิดตลาดแห่งนี้นับว่าเป็นผลดีต่อการค้าตามแนวชายแดนไทย - กัมพชา เป็นอย่างมาก หลังจากที่เศรษฐกิจซบเซาเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 เพราะว่าจะช่วยให้พี่น้องประชาชนเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยรวมถึงกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ได้มีโอกาสค้าขายมากขึ้น ลดต้นทุนทางการตลาด และเปิดโอกาสให้กับผู้ค้ารายใหม่ได้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากว่า ขณะนี้ด่านชายแดนทุกแห่งปิดทุกด้าน ดังนั้น จึงต้องอาศัยการค้าขายภายในประเทศเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคักขึ้นมาเช่นเดิม นับว่าตลาดแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของ จ.ศรีสะเกษ เป็นอย่างมาก
พระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ.) และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา กล่าวว่า มูลนิธิหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา ได้ดำเนินการโครงการตลาดวัฒนธรรม (บายตึ๊กเจีย) ของกระทรวงวัฒนธรรมมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นการส่งเสริมตลาดสินค้าเชิงวัฒนธรรม นำวิถีชีวิตศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างงานและบริการ ก่อให้เกิดคุณค่าทางสังคม และส่งเสริมสนับสนุนอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมิให้สูญหายไป ซึ่งอาตมาภาพได้นำเอาที่ดินของวัดจำนวน 25 ไร่ มาใช้ในการจัดสร้างตลาดแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ให้มีตลาดในการจำหน่ายและแลกเปลี่ยนสินค้าพื้นเมืองต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นมา เป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนตามแนวชายแดนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกทางหนึ่งด้วย