เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



หมอยังงง รักษาคนไข้มา 20 ปี เพิ่งเคยเจอ "โรคหอยคัน" ตอนนี้แพร่ระบาดหนักที่สงขลา


11 พ.ย. 2563, 16:25



หมอยังงง รักษาคนไข้มา 20 ปี เพิ่งเคยเจอ "โรคหอยคัน" ตอนนี้แพร่ระบาดหนักที่สงขลา




นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา มีการโพสต์เฟซบุ๊กเตือนภัยเกี่ยวกับ อาการของโรคหอยคัน ที่ขณะนี้พบว่ากำลังแพร่ระบาดหนักในกลุ่มชาวนา ที่จังหวัดสงขลา นายแพทย์สุภัทร เผยว่า ในเดือนที่ผ่านมา เริ่มมีอุบัติการณ์พบคนไข้มีผื่นคันจำนวนมาก มีตุ่มแดงคันนูนอย่างน่ากลัว คันมากตามแขนขา พบว่ามีผู้ป่วยกระจายในพื้นที่ 7 ตำบล คนไข้ทั้งหมดมีอาการผื่นคัน หลังการดำนา โดยส่วนใหญ่คนไข้เริ่มคันหลังดำนาได้ 1 - 3 วัน 

ผื่นมีลักษณะจำเพาะ คือเป็นผื่นที่ขาทั้ง 2 ข้าง และแขนข้างที่ถนัดที่ใช้ปักดำกล้าเท่านั้น แขนอีกข้างที่ใช้วางต้นกล้าบนแขนซึ่งไม่ได้สัมผัสน้ำจะไม่มีผื่น ไม่มีผื่นบริเวณร่มผ้า หรือบริเวณอื่นที่ไม่สัมผัสน้ำ พบผู้ป่วยที่มาตรวจรักษามากถึง 233 ราย  และมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นไม่มาก และไม่ได้มาตรวจ คนไข้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดำนามาทุกปี ไม่เคยเจอแบบนี้ ตนเป็นหมอที่โรงพยาบาลจะนะ มากว่า 20 ปี ก็ไม่เคยเจอเช่นกัน



คำถามคือ  สาเหตุของผื่นคันที่ระบาดหนักในครั้งนี้ เกิดจากอะไร เกิดจากมลพิษสารเคมีในน้ำ หรือเกิดจากเชื้อโรคเชื้อพยาธิ
ทางโรงพยาบาลจะนะได้รับการช่วยเหลือจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ ที่มาจากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันโรคผิวหนังภาคใต้ซึ่งตั้งที่จังหวัดตรัง และคณะแพทย์จากโรงพยาบาลหาดใหญ่และสงขลานครินทร์ ร่วมกันมาสอบสวนโรคและหาสาเหตุ จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ทำแผนที่การระบาด เหลือ 2 เหตุที่เป็นไปได้ คือผื่นคันจากเชื้อปรสิตที่มาจากหอย ซึ่งเป็นผู้ร้ายที่ต้องสงสัยที่สุด ส่วนน้ำเสียจากการเกษตร หรือโรงงานนั้น น่าจะไม่ใช่ แต่ยังต้องคิดถึงอยู่

ดังนั้น เพื่อให้สามารถจับผู้ร้ายได้แม่นยำ จึงต้องนำน้ำ และหอยในนาไปตรวจ โดยได้มีผู้ป่วย 4 คน ยินดีให้ทำ skin biopsy หรือผ่าเอาเนื้อผิวหนังไปตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์ และแล้วเราก็สามารถจับผู้ร้ายได้ ผลการตรวจ skin biopsy พบตัวอ่อนพยาธิตัวแบน cercaria ในผู้ป่วย 3 คน จากที่ผ่าส่งตรวจไป 4 คน และในน้ำที่ส่งตรวจก็พบเชื้อพยาธินี้ด้วย และจากการไปลงพื้นที่เพื่อสำรวจหอยในพื้นที่นา ก็พบทั้งหอยเชอรี่ หอยโข่ง และหอยคัน และหอยคันที่เก็บไปก็ตรวจพบเจอ Cercaria อีกด้วย
 


ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ผื่นคันครั้งนี้ วินิจฉัยโรคว่า เป็น Cercarial dermatitis หรือ Swimmer’s itch  หรือ ชื่อไทย ๆ เรียกว่า โรคหอยคัน 

อาการคัน ๆ หรือผื่นเกิดจากตัวอ่อนของพยาธิได้ไชเข้าไปสู่ผิวหนังของคนไข้ แต่พยาธินี้เป็นพยาธิใบไม้ในเลือดที่เติบโตได้จำเพาะในสัตว์ (Animal Schistome) ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในคนได้ เมื่อชอนไชเข้าสู่ร่างกายของคน พยาธิก็จะตายหลังจากไชไประยะเวลาหนึ่งบริเวณผิวหนัง แต่การไชไปตามผิวหนังก็กระตุ้นให้เกิดผื่น และอาการคัน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย พบว่าคนไข้ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นได้เองหลังผ่านไป 1-2 อาทิตย์ การใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ทั่วไปก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น

ส่วนคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีใครตอบคือ อะไรทำให้เกิดการระบาดของเชื้อพยาธิในครั้งนี้  หรือเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเติบโตของหอย และเชื้อพยาธิ หรือการไหลหมุนเวียนของน้ำท่าที่ถูกปิดกั้นจากการถมที่ หรือมีเหตุอื่น ๆ ที่เราคาดไม่ถึง  แต่ที่แน่ ๆ หากปีหน้าเกิดซ้ำ พื้นที่ทำนาของจะนะที่ลดลงต่อเนื่องอยู่แล้วน่าจะลดลงมากไปอีกอย่างแน่นอน






Recommend News

















©2018 ONBNEWS. All rights reserved.