เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"มท.2" ร่วมวงถก แนวทางการบริหารจัดการ อปท. เชื่อมั่น! ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง


12 พ.ย. 2563, 08:27



"มท.2" ร่วมวงถก แนวทางการบริหารจัดการ อปท. เชื่อมั่น! ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง




วันที่ 11 พ.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยรามคำแหง นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “การกระจายอำนาจกับสังคมไทยในอนาคต” โดยสมาคมองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเรียนรู้การกระจายอำนาจ โดยมีผู้บริหารท้องถิ่น,สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 1,700 คน



นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า "การกระจายอำนาจในอนาคต ตนเชื่อมั่นว่า ถ้าประเทศไทยทำให้ส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ประเทศไทยก็จะเข้มแข็งไปด้วยภายใต้บริบทการกระจายอำนาจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น  ในฐานะที่มีประสบการณ์บริหารส่วนท้องถิ่นมาก่อน เรามีแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งจะมีการแก้กฎหมายฉบับนี้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์เปลี่ยนเป็นกฎหมายว่าด้วยการกำหนดกรอบและเป้าหมายการจัดทำบริการสาธารณะของ อปท.  ส่วนการถ่ายโอนภารกิจ ช่วงเริ่มต้นจะโอนภารกิจหลักที่มีความพร้อมของบุคลากรที่จะจัดทำภารกิจก่อน แต่มีปัญหาการถ่ายโอนของหน่วยงานที่จะต้องทำหน้าที่ ซึ่งพบว่า อปท.ทำกันมาก จะกระจุกตัวอยู่ที่ภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ การถ่ายโอนงบประมาณ  การใช้งบประมาณ  จะมีปัญหา “งานมาแต่เงินไม่มา” ทำให้เกิดความล่าช้า และไม่คล่องตัวในการทำงาน ทั้งนี้ภารกิจของส่วนท้องถิ่นไม่ได้อยู่แค่โครงสร้างพื้นฐาน  ด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต สุขอนามัยของประชาชน แต่เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นต้องปรับเปลี่ยน เช่น การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การกีฬาระหว่างประเทศ  เป็นต้น ดังนั้น ส่วนท้องถิ่นต้องเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาประเทศต่อไปซึ่งจะรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต"


รมช.มหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า "ส่วนการกระจายอำนาจสังคมไทยในอนาคต อยู่ที่ความเข้มแข็งของส่วนท้องถิ่น หากเป็นเพียงบทบาทจากราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ให้มาอยู่ในการครอบครองของคนกลุ่มระดับจังหวัด ที่เรียกว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” ให้อำนาจแต่ละจังหวัดได้มีอำนาจในการบริหารจัดการด้วยตนเอง โดยคัดสรรพื้นที่จังหวัดแต่ละภาคที่มีความพร้อมขึ้นมานำร่องก่อน เพื่อให้ทดลองการจัดการตนเองด้วยพลังแห่งท้องถิ่นให้สอดคล้องกับความต้องการ คนในสังคมของ อปท. จะคุ้มค่ามากที่สุด ที่สำคัญคือ จะต้องไม่ซ้ำซ้อน  รองรับการกระจายอำนาจซึ่งจะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น และลดการกระจายงบประมาณที่ซ้ำซ้อนที่มีอยู่ในขณะนี้"






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.