รองโฆษก รมช.ศธ. ติดตามและให้กำลังใจการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์
13 พ.ย. 2563, 08:17
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ร.ร.บ้านหัววัวหนองนารี ต.บุสูง อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ ดร.คมสัน พันธุ์วิชาติกุล รองโฆษกประจำตัว รมช.ศึกษาธิการ ผู้แทนคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกันติพจน์ สิริภักดิสกุล ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) อาจารย์เอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. น.ส.กชณิชา สิริภักดิสกุล ผู้จัดการโครงการ Unplugged Coding พื้นที่ห่างไกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ สำหรับนักเรียนชั้น ป.1 - 3 ใน ร.ร.พื้นที่ห่างไกล โดยมี ว่าที่ ร.ต.ดร.ทวีศักดิ์ นามศรี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 กล่าวต้อนรับ นายพัฒนศักดิ์ บางใบ ผอ.ร.ร.บ้านหัววัวหนองนารี กล่าวรายงาน และมี น.ส.รุ่งอรุณ เมธาภัทรกุล นายคำโพธิ์ บุญสิงห์ รอง ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู นักเรียน ผู้นำชุมชน เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้
นายพัฒนศักดิ์ บางใบ ผอ.ร.ร.บ้านหัววัวหนองนารีกล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มอบนโยบายปฏิรูปการศึกษา ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อสร้างทักษะกระบวนการคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ให้เกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่เยาว์วัย สพฐ.จึงได้ดำเนินการอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาตามนโยบาย Coding ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษา เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการบริการทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และลดความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาการคิด วิเคราะห์ ทักษะกระบวนการ ค่านิยม และเจตคติ มาหลอมรวมกันเป็นสมรรถนะ เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง และเป็นพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่การดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคตต่อไป
นายกันติพจน์ สิริภักดิสกุล ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) กล่าวว่า นักเรียนชั้น ป.1-3 เป็นวัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะกระบวนการคิด โดยเฉพาะกระบวนการคิดเชิงตรรกะ การคิดเป็นเหตุเป็นผล การคิดแก้ปัญหาและการคิดเพื่อตัดสินใจ จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียน เปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ตามบริบทของสังคมวัฒนธรรมพื้นถิ่น และสภาพแวดล้อมที่นักเรียนอาศัยอยู่ โดย สพฐ.ได้พิจารณาคัดเลือก ร.ร.ในพื้นที่ห่างไกล จำนวน 13 ร.ร. ซึ่ง ร.ร.บ้านหัววัวหนองนารี ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และได้สร้าง ร.ร.เครือข่ายในกลุ่ม CEO วังหิน 1 จำนวน 2 ร.ร. คือ ร.ร.บ้านสว่าง และ ร.ร.บ้านหนองบัว และจะขยายเครือข่ายจนครบทุก ร.ร.ในกลุ่ม CEO วังหิน 1 เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการคิดและสามารถนำทักษะดังกล่าวไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขในโอกาสต่อไป
ดร.คมสัน พันธุ์วิชาติกุล รองโฆษกประจำตัว รมช.ศึกษาธิการ ผู้แทนคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมครูผู้สอนและจัดกิจกรรมห้องเรียนพร้อมทั้งสาธิตการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนชั้น ป.1-3 ใน ร.ร.พื้นที่ห่างไกลมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมห้องเรียนสาธิตการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนชั้น ป.1-3 ใน ร.ร.พื้นที่ห่างไกลให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมครูผู้สอนและซักซ้อมความเข้าใจของผู้บริหารสถานศึกษาสถานศึกษาในการจัดกิจกรรมห้องเรียนสาธิตการเรียนรู้วิทยาการคำนวณแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนชั้น ป.1-3 ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา เพื่อพัฒนาและออกแบบชุดกิจกรรม ตัวอย่างกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนชั้น ป.1-3 ใน ร.ร.พื้นที่ห่างไกล ตนต้องขอขอบคุณ ว่าที่ ร.ต.ดร.ทวีศักดิ์ นามศรี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 และศึกษานิเทศก์ทุกคนที่ให้คำปรึกษาและส่งเสริมกิจกรรมนี้ด้วยดีเสมอมา