นายกฯ ย้ำความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์
14 พ.ย. 2563, 13:57
วันนี้ (14 พ.ย. 63) เวลา 09.15 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ฯ 45 ปี ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เข้าร่วมด้วย ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุมดังนี้
นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่าเป็นการหารือกำหนดแนวทางในการพัฒนาและความร่วมมือในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่เจรจาที่เก่าแก่ที่สุดของอาเซียน ในโอกาสครบรอบ 45 ปีของความสัมพันธ์ พร้อมหารือกับที่ประชุมฯ เรื่องความร่วมมือในมิติต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ด้านนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เน้นย้ำความร่วมมือกับอาเซียน ในฐานะกลุ่มมิตรประเทศที่มีความร่วมมือมายาวนานกว่า 45 ปี และกล่าวถึงการเชื่อมโยงความร่วมมือและเศรษฐกิจนับตั้งแต่อาเซียนและนิวซีแลนด์เป็นหุ้นส่วนกันมา นิวซีแลนด์สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาค พร้อมเน้นย้ำว่ามิตรภาพกับอาเซียนเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือความท้าทายต่าง ๆ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ที่ได้รับเลือกตั้งอีกวาระหนึ่ง เชื่อมั่นว่านิวซีแลนด์และอาเซียนจะดำเนินความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นและยั่งยืนต่อไป โดยนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศคู่เจรจาที่เก่าแก่ที่สุดของอาเซียน และประสบความสำเร็จในการดำเนินความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ในระดับประชาชน และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา มาอย่างดีตลอด 45 ปี และแม้ปัจจุบันหลายประเทศกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด–19 แต่ไทยเชื่อมั่นว่าอาเซียนและนิวซีแลนด์จะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ผ่านความร่วมมือในกรอบสาธารณสุขและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งในภาครัฐบาล ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รวมทั้งจะสามารถร่วมกันฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียน และกลไกอื่น ๆ ที่อาเซียนและนิวซีแลนด์มีบทบาทนำ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ อาทิ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ซึ่งนิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเชิญชวนนิวซีแลนด์ร่วมดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จัดตั้งขึ้นในไทยเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนแนวคิดของชนเผ่าเมารีเรื่อง “ไคติอากิทังก้า” ซึ่งให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนและสิ่งแวดล้อมเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ตามที่นิวซีแลนด์ได้เสนอในวิสัยทัศน์ร่วมของผู้นำฯ ไทยเสนอให้ที่ประชุมฯ สร้างศักยภาพของภูมิภาคให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว เช่น การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการดำเนินการตามความตกลงปารีส การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน การกำจัดขยะพลาสติกทางทะเล การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้ย้ำว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่นเดียวกับสาขาอื่นๆ จึงให้ความสำคัญกับการแจกจ่ายวัคซีน การเข้าถึงการป้องกัน และรักษา โดยขอให้ประเทศต่างๆ ทำงานร่วมกัน เพื่อต่อสู้รับมือกับโควิด-19 นิวซีแลนด์ได้บริจาคเงินเพื่อเข้ากองทุนการพัฒนาวัคซีนและการรักษา การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยจะใช้กลไกห่วงโซ่อุปทานเป็นการขับเคลื่อนการฟื้นฟูสำคัญ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ต้องปรับให้ทันสมัย เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป้าหมายการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นเรื่องสำคัญ ละทิ้งไม่ได้ สนับสนุนการเสริมสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาค เช่น กรอบ EAS ขอบคุณไทยที่ให้ความสำคัญกับ “ไคติอากิทังก้า” ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นให้ความสำคัญกับประชาชน