ไทยเสนอ 3 แนวทางสหประชาชาติสนับสนุนอาเซียน ขับเคลื่อนเป้าหมาย-พัฒนาอย่างยั่งยืน
15 พ.ย. 2563, 13:57
วันนี้ ( 15 พ.ย.63 ) เวลา 09.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 11 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และ นายอันโตนิอู กูแตเรซ (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ เข้าร่วมหารือ ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่าการประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อรับทราบความคืบหน้าและทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี ดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2016-2020 (Plan of Action to Implement the Joint Declaration on Comprehensive Partnership between ASEAN and the United Nations 2016-2020) และรับทราบแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่ ปี ค.ศ. 2021-2025
จากนั้น เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวถึงการต่อสู้กับโควิด-19 การรักษาสภาพอากาศ และการต่อสู้กับความท้าทายใหม่ๆ ผู้นำต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 หวังว่าจะเข้าถึงอย่างทั่วถึง ขอเรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดความขัดแย้งในโลก ทั้งนี้ เพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ UN พร้อมเคียงข้างกับอาเซียนในทุกมิติ และขอบคุณอาเซียนที่มุ่งมั่นสนับสนุนการทำงานของ UN
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าสหประชาชาติเป็นเสาหลักในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ส่งเสริมการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ และดูแลแก้ไขปัญหานานัปการ พร้อมชื่นชมบทบาทในการปฏิรูปสหประชาชาติให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะระดับโลก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางเพื่อให้สานต่อและขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ประการ คือ 1. การปรับแนวทางการดำเนินการ ด้วยการจัดลำดับสาขาความร่วมมือระหว่างกันใหม่ โดยเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ให้อาเซียนสามารถยืนหยัดและรับมือกับภาวะฉุกเฉินและความท้าทายต่าง ๆ 2. การเปิดโอกาสในการส่งเสริมงานอาสาสมัครภายในประชาคมอาเซียน โดยสามารถแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านความร่วมมือใต้-ใต้และความร่วมมือไตรภาคี และ 3. การพัฒนาหุ้นส่วนด้วยการสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งและมีความรับผิดชอบร่วมกัน โดยทั้ง 3 ประการ จะสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบแผนฟื้นฟูอาเซียนที่ครอบคลุมและข้อเสนอแนะตามรายงานสรุปเชิงนโยบายของเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่วยขับเคลื่อนข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ พร้อมเสนอการร่วมมือระหว่างกัน โดยผ่านกิจกรรมของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก
นายกรัฐมนตรีย้ำการยึดมั่นในระบบพหุภาคีนิยม หลักค่านิยมสากล การส่งเสริมความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ และความตั้งใจของไทยที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและสหประชาชาติอย่างใกล้ชิดและแข็งขันต่อไป
ในช่วงท้าย เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวย้ำถึงสนับสนุนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูของอาเซียน การสนับสนุนให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ การยึดมั่นในความร่วมมือในการรักษาสันติภาพ เพื่อความมั่นคง ตลอดจนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจจะสนับสนุนในสาขาที่เป็นยุทธศาสตร์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในโอกาสนี้ เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวสนับสนุนมาตรการของไทยในด้านความร่วมมือใต้-ใต้ และนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การร่วมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติรวมทั้งการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน