เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เปิดคำแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรี "พล.อ.ประยุทธ์" ต่อรัฐสภา


25 ก.ค. 2562, 14:16



เปิดคำแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรี "พล.อ.ประยุทธ์" ต่อรัฐสภา




วันนี้ ( 25 ก.ค.62 ) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ณ หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยมีใจความว่า 

ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ 
                    ตามที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้กระผมดํารงตําแหน่ง นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ และแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ นั้น บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กําหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความสอดคล้องกับหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ และหมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๑-๒๕๘๐ เรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ทราบถึงแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลจะดําเนินการ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง สังคมไทยมีความสงบสุข สามัคคี และเอื้ออาทร คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความพร้อมที่จะดําเนินชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
 
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ 
                   แม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากขณะนี้ ปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศเปลี่ยนไปมาก ประเทศไทยในขณะนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนสูงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ การเข้าบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในครั้งนี้ จึงเป็นการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่สถานการณ์ต่าง ๆ มีความไม่แน่นอนในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมทั้งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่  ประเทศไทยต้องดําเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้มีข้อผูกพันไว้ในเวทีโลก  
                     ประเทศไทยในขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงระยะของการเปลี่ยนผ่านและต้องต่อสู้กับปัญหาใหม่ ๆ หลายประการ อาทิ จากการต่อสู้กับความยากจนในอดีต ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็น การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในหลากรูปแบบ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำของโอกาส และความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สิน หรือแม้แต่การต่อสู้กับความไม่สงบภายในประเทศในอดีต มาสู่การต่อสู้กับภัยคุกคามที่ไม่มีแบบแผนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ โรคระบาด และสงครามไซเบอร์ ประเด็นท้าทายข้างต้นเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของการบริหารประเทศที่รัฐบาลจะต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี  
                   ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง มีการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง แก้ไขปัญหาปากท้องและสร้างรายได้ให้ประชาชนให้เพียงพอต่อการดํารงชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คนไทยในทุกช่วงวัยจะมีความพร้อมทั้งในด้านหลักคิด คุณธรรม และจริยธรรม และมีศักยภาพที่จะดําเนินชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ เราจะร่วมกันสร้าง “การเติบโตเชิงคุณภาพ” ไม่ใช่ “การเติบโตเชิงปริมาณ” ทั้งนี้ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ให้ทันการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้างความเข้มแข็งและแก้ไขปัญหาที่ยังดํารงอยู่ของภาคส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อให้ ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันและมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีความเข้มแข็งในระยะยาว นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นในประชาคมโลกและมีบทบาทนําในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในประชาคมโลกผ่านการพัฒนาบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะทําให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน  และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์และเป้าหมาย ที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยการบริหารราชการแผ่นดินในช่วง ๔ ปีของรัฐบาลจะยึดหลักการ สําคัญสี่ประการ ได้แก่
                   ๑. น้อมนําพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหลักในการบริหารประเทศ
                   ๒. ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   
                   ๓. พัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ  พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร   
                  ๔. บูรณาการการทํางานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ในลักษณะประชารัฐเพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และทําให้ประชาชนคนไทยมีความมั่นคง อยู่ดีมีสุข
 
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
                   ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านวิสัยทัศน์และการขับเคลื่อนการพัฒนาของผู้นําประเทศในอดีต และในวันนี้วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลชุดนี้ คือ “มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ ๒๑” โดยรัฐบาลได้กําหนด นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้
นโยบายหลัก ๑๒ ด้าน  
                    ๑. การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์   
                             สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสําคัญยิ่งต่อประเทศและประชาชนชาวไทย รัฐบาลถือเป็นหน้าที่สําคัญที่จะเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์และปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพ ด้วยความจงรักภักดี ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายดําเนินการ ดังนี้
                             ๑.๑ สืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชาและโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักสําคัญในการบําบัดทุกข์ และบํารุงสุขให้ประชาชน และพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้ง ส่งเสริมการเรียนรู้หลักการทรงงาน การนํามาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการและการพัฒนา ประเทศ เพื่อประโยชน์ในวงกว้าง รวมทั้งเผยแพร่ศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงไปสู่เวทีโลกเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน  
                             ๑.๒ ต่อยอดการดําเนินการของหน่วยพระราชทานและประชาชน จิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดําริ ให้เป็นแบบอย่างการบําเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน และพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน โดยระดมพลังความรัก ความสามัคคี ทั้งของหน่วยงานในพระองค์ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และชุมชน  
                             ๑.๓ สร้างความตระหนักรู้ เผยแพร่ และปลูกฝังให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชน ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ เพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างถูกต้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในบริบทของไทย
                   ๒. การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ
                             ๒.๑ รักษาและป้องกันอธิปไตยและความมั่นคงภายในของประเทศ ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ รวมทั้งป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามต่าง ๆ และภัยคุกคาม รูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นการสร้างอํานาจกําลังรบที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนให้เข้มแข็ง การพัฒนาระบบเตรียมความพร้อมแห่งชาติ ระบบงานข่าวกรอง การจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านความมั่นคง รวมทั้งพัฒนาระบบการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวมให้มีความพร้อมในการรักษาอธิปไตย ผลประโยชน์ของชาติ และร่วมพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ   
                             ๒.๒ ปลูกจิตสํานึก เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีความเป็นชาติไทย การมีจิตสาธารณะและการมีส่วนร่วมทําประโยชน์ให้ประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ ความสามัคคีปรองดองและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกันของประชาชน  โดยสถาบันการศึกษาสอดแทรกการปลูกฝังวินัยของคนในชาติ หลักคิดที่ถูกต้อง สร้างค่านิยม “ประเทศไทยสําคัญที่สุด” การเคารพกฎหมายและกติกาของสังคม ปรับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาให้เอื้อต่อการมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ   
                             ๒.๓ พัฒนาและเสริมสร้างการเมืองการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีธรรมาภิบาล ความรักชาติ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักการเมืองมีคุณภาพ เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าส่วนตน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเอื้ออํานวยต่อการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง  
                             ๒.๔ สร้างความสงบและความปลอดภัยตั้งแต่ระดับชุมชน  โดยกําหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง ดูแล และรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน ความสงบสุขของประชาชน และปัญหายาเสพติดในระดับชุมชนและหมู่บ้าน อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่  
                             ๒.๕ แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังทั้งระบบ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ปราบปรามแหล่งผลิตและเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด โดยเฉพาะผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด ป้องกันเส้นทางการนําเข้าส่งออกโดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การลดจํานวนผู้ค้าและผู้เสพรายใหม่ และให้ความรู้เยาวชนถึงภัยยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฟื้นฟู ดูแล รักษาผู้เสพผ่านกระบวนการทางสาธารณสุข 
                   ๓. การทํานุบํารุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม    
                             รัฐบาลให้ความสําคัญกับการส่งเสริมให้สถาบันทางสังคมร่วมปลูกฝังค่านิยม และวัฒนธรรมที่ดี รวมทั้งการทํานุบํารุงศาสนา การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมไทย และการยอมรับ ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างสังคมให้มีคุณภาพ คุณธรรม และอยู่ร่วมกัน ได้อย่างมีความสุข ดังนี้    
                             ๓.๑ ส่งเสริมวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติ โดยอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ศิลปะ ประเพณี ภูมิปัญญา ภาษาไทย และภาษาถิ่นที่มีอัตลักษณ์และความหลากหลายผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของชาติ พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย เพื่อกระตุ้นกระแสนิยมวัฒนธรรมไทย พัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม  
                             ๓.๒ ปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม กตัญญู ความซื่อสัตย์ การมีวินัย เคารพกฎหมาย มีจิตสาธารณะและการมีส่วนร่วมทําประโยชน์ให้ประเทศ และเป็นพลเมืองที่ดี โดยส่งเสริมให้สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และชุมชนเป็นฐานในการบ่มเพาะ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนดําเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ให้สื่อมีบทบาทกระตุ้นและสร้างความตระหนักในค่านิยมที่ดี รวมถึงผลิตสื่อที่มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบ และเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์
                             ๓.๓ ทํานุบํารุงศาสนาให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมสถาบันศาสนาทุกศาสนาให้มีบทบาทในการเผยแผ่หลักคําสอนที่ดีงาม ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต จิตใจ และพัฒนาสังคมให้มีความสามัคคี ปรองดอง และยั่งยืน และให้พุทธศาสนิกชนเข้าถึงแก่นแท้คําสอนของพระพุทธเจ้าและสามารถนํามาปฏิบัติในชีวิตประจําวันได้   
                             ๓.๔ สร้างความรู้ ความเข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ของประเทศเพื่อนบ้าน ยอมรับและเคารพในประเพณี วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ และชาวต่างชาติที่มีความหลากหลาย ในลักษณะพหุสังคมที่อยู่ร่วมกัน โดยสนับสนุนการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศควบคู่กับการส่งเสริม สร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมที่เป็นสากล เพื่อการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก 
                   ๔. การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก 
                             ในโอกาสที่ประเทศไทยดํารงตําแหน่งประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ รัฐบาลจะใช้โอกาสนี้ในการสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก เพื่อให้ประเทศไทยมีบทบาทนําในการพัฒนาและสร้างความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ เพื่อนําไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะดําเนินการ ดังนี้
                             ๔.๑ สร้างบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในภูมิภาคและเวทีโลก ดําเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ และในเวทีโลกอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ บนพื้นฐานของหลักการการไว้เนื้อเชื่อใจกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน เน้นย้ำความสําคัญของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมบทบาท ที่สร้างสรรค์ของไทยในประชาคมโลก รวมทั้งมีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ  
                             ๔.๒ เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของไทย ผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และเป็นแกนกลางของอาเซียนในการสนับสนุนให้เกิดสันติสุขและความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืนในภูมิภาค  
                             ๔.๓ ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อนําไปสู่การแสวงหาโอกาสทางการค้า การลงทุน องค์ความรู้และนวัตกรรมกับประเทศที่มีศักยภาพในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และสนับสนุนการขยายธุรกิจในสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ ส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมของไทยด้วยการส่งเสริมเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม เพื่อสร้างการรับรู้ที่กว้างขวางมากขึ้นในเวทีโลก  
                             ๔.๔ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความมั่นคง เพื่อรับมือกับภัยความมั่นคงในรูปแบบใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และปัญหาข้ามชาติที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยและความมั่นคงของมนุษย์  
                             ๔.๕ ขับเคลื่อนงานการทูตเชิงรุกเพื่อประชาชน เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทย แรงงานไทย และภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ ส่งเสริมบทบาทของชุมชนไทยในการร่วมเชิดชูผลประโยชน์ของไทยในต่างประเทศ 
 
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ 
                   ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายยังคงเป็นปัญหาที่สะสมมาต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีความจําเป็นต้องลงทุนเพื่อการพัฒนาและวางรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว ขณะที่รัฐบาลจะมีภาระด้านการสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งความไม่สมดุลดังกล่าวอาจสะสมเป็นความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตได้ ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ รัฐบาลจําเป็นจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรายได้และรายจ่ายภาครัฐ ในขณะเดียวกันจําเป็นจะต้องรักษา เสถียรภาพในระบบการเงินเพื่อสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจและการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน โดยมีนโยบายที่สําคัญ ดังนี้  



 ๕. การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย  
                             ๕.๑ เศรษฐกิจมหภาค การเงินและการคลัง   
                                      ๕.๑.๑ ดําเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถตอบสนองต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยการบริหารเศรษฐกิจมหภาคให้มีเสถียรภาพ เอื้ออํานวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมและการเจริญเติบโตของธุรกิจทุกระดับ สนับสนุนการนําเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาให้บริการและพัฒนาขีดความสามารถสถาบันการเงินไทย เพื่อรองรับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาสากล เร่งขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางการเงิน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับสินเชื่อและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสินเชื่อสําหรับผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
                                      ๕.๑.๒ กํากับดูแลวินัยการเงินการคลัง โดยติดตามกํากับดูแล ให้หน่วยงานภาครัฐดําเนินการตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต โดยจัดทําประมาณการรายจ่ายแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดําเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ การรายงานทางการเงินประจําปี เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงการกําหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่ชัดเจนในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนในพื้นที่ และอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย  
                                      ๕.๑.๓ ปฏิรูปโครงสร้างรายได้ภาครัฐ เร่งปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ทั้งในส่วนของรายได้ภาษีและรายได้จากทรัพย์สินของรัฐ ผ่านการขยายฐานภาษี การปรับปรุงอัตราภาษี การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหน่วยงานจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ การทบทวนค่าลดหย่อนหรือมาตรการภาษีที่ไม่จําเป็นและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ  การปราบปรามผู้หลบเลี่ยงภาษี และการพัฒนาภาษีประเภทใหม่ ๆ ให้สอดรับกับเทคโนโลยี และการค้าในยุคดิจิทัล รวมถึงการเร่งบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ เพื่อให้ระบบการจัดเก็บรายได้ของรัฐช่วยสร้างความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รักษาความสมดุลและความยั่งยืนทางการคลัง 
                                       ๕.๑.๔ ปฏิรูประบบการออม โดยจัดให้มีระบบการออม เพื่อการเกษียณอายุอย่างทั่วถึง พัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนให้เป็นแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ และเป็นช่องทางการออมของประชาชน พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่จะส่งเสริมให้คนไทยทุกคนเข้าสู่ระบบการออมและการลงทุนระยะยาวให้สามารถรองรับพฤติกรรม และวัฏจักรชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและลดต้นทุน พัฒนาขีดความสามารถในการดําเนินงานขององค์กรการเงินชุมชนและสหกรณ์ทุกระดับ  และพัฒนาความรู้พื้นฐานทางการเงินแก่ประชาชน ตลอดจนการกํากับดูแลระบบสถาบันการเงิน ให้มีความมั่นคง  
                                      ๕.๑.๕ สร้างแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายที่มีเครื่องมือและเทคนิคสมัยใหม่ต่าง ๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบนโยบายและมาตรการ เพื่อให้สามารถกําหนดนโยบายที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ อย่างทันท่วงที
                             ๕.๒ พัฒนาภาคอุตสาหกรรม 
                                      ๕.๒.๑ พัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว [Bio-Circular-Green (BCG) Economy]  โดยนําความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมในการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการของท้องถิ่น ปรับระบบการบริหารจัดการการผลิตและระบบโลจิสติกส์ ส่งเสริมการใช้พลังงาน ทดแทน การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า การบริหารจัดการของเสีย อุตสาหกรรมและขยะแบบคลัสเตอร์ระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนในแต่ละพื้นที่ของจังหวัด  กลุ่มจังหวัด เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมทั้งให้ความสําคัญกับกฎระเบียบ ทางด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระหว่างประเทศ 
                                      ๕.๒.๒ พัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือแนวโน้มการค้าโลก โดยคํานึงถึงศักยภาพ ความสามารถในการแข่งขัน แนวโน้มความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดโลก เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยมีระดับ ผลิตภาพที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก สร้างนวัตกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมที่มี ศักยภาพ และอุตสาหกรรมอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบคมนาคมของ ประเทศ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ อุตสาหกรรมอวกาศ พร้อมทั้งให้ความสําคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สามารถใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน 
                                      ๕.๒.๓ สร้างกลไกสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ การเข้าถึงแหล่งเงิน การพัฒนาศูนย์ทดสอบหรือวิจัยและออกแบบที่ได้มาตรฐานสากล และการใช้สถาบันการศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่มาสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ
                                      ๕.๒.๔ พัฒนาระบบและกลไกภาครัฐและสภาพแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยการจัดทําแพลตฟอร์มที่เหมาะสมสําหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยการใช้นวัตกรรม การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน การตลาด  และการบัญชี  เพิ่มประสิทธิภาพของระบบบ่มเพาะผู้ประกอบการและสถาบันเฉพาะทางต่าง ๆ ให้สามารถเป็นกลไกหลักที่เข้มแข็งในการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาและบ่มเพาะศักยภาพ ผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์  
                             ๕.๓ พัฒนาภาคเกษตร   
                                       ๕.๓.๑ รักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและรายได้ให้กับเกษตรกรในสินค้าเกษตรสําคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสําปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด โดยผ่านเครื่องมือและมาตรการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นภาระกับงบประมาณแผ่นดินเกินสมควร จัดให้มีระบบประกันภัยสินค้าเกษตร การพัฒนาระบบตลาดที่เชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรถึงผู้ประกอบการแปรรูปและผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในการขยายและเข้าถึงตลาดในรูปแบบต่าง ๆ การอํานวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตรที่มีประสิทธิภาพ 
                                      ๕.๓.๒ ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังของภาครัฐ โดยจัดให้มีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มรายได้และลดต้นทุนการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่การปรับโครงสร้างต้นทุนการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์ พื้นที่เพาะปลูก ปุ๋ย เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตร แหล่งน้ำ และระบบไฟฟ้าเพื่อการเกษตร การลดภาระหนี้สินโดยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่มีต้นทุนต่ำ การลดความเสี่ยงจากราคาพืชผลทางการเกษตร การพัฒนาทักษะอาชีพเสริมรายได้ รวมทั้ง การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และการปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมกับฐานทรัพยากรในพื้นที่และความต้องการของตลาด นําระบบข้อมูลสารสนเทศการเกษตร ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการจัดเขตพื้นที่เกษตรกรรม (zoning) และส่งเสริมกลไกอาสาสมัครเกษตร หมู่บ้าน รวมทั้งระบบการบริหารจัดการเชิงรุกมาใช้ในการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตร ให้เหมาะสมกับพื้นที่
                                       ๕.๓.๓ พัฒนาองค์กรเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยเพิ่มทักษะการประกอบการและพัฒนาความเชื่อมโยงของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการตลาด การค้าออนไลน์ ระบบบัญชี เพื่อขยายฐานการผลิตและฐานการตลาดของสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง  มีความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ไปสู่เกษตรกรอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาภาคเกษตรได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต  
                                      ๕.๓.๔ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร โดยใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ การลด ละ เลิกใช้ยาปราบศัตรูพืชโดยเร็ว โดยต้องจัดหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอและเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มและโอกาสทางเศรษฐกิจ อาทิ เกษตรอินทรีย์ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ และเกษตรแปรรูป เพื่อต่อยอดไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการพัฒนาสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัย   
                                      ๕.๓.๕ ดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในที่ดินทํากิน แหล่งเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยการผลิตต่าง ๆ รวมทั้ง ลดูแลและลดความเสียหายจากการทําการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยทางธรรมชาติซ้ำซาก โดยกําหนดเขตพื้นที่เกษตรกรรม (zoning)   
                                      ๕.๓.๖ ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้ และให้ความรู้ในการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์อย่างเหมาะสม ทั้งในด้านการปลูก บํารุงรักษา ดูแล และการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง   
                                      ๕.๓.๗ ส่งเสริมการทําปศุสัตว์ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น  โดยส่งเสริมการตลาด วิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ และสัตว์พื้นบ้าน อาทิ โคเนื้อ แพะ และแกะ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนามาตรฐานการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปสู่ตลาดโลก
                                      ๕.๓.๘ ฟื้นฟูและสนับสนุนอาชีพการทําประมงให้เกิดความยั่งยืน บนพื้นฐานของการรักษาทรัพยากรทางการประมงและทรัพยากรทางทะเลให้มีความสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขีดความสามารถการทําประมงอย่างถูกต้องในกลุ่มประมงพื้นบ้านและเชิงพาณิชย์ การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้และลดต้นทุนการทําประมง ลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพ ส่งเสริมการรวมกลุ่มประมงชายฝั่งและประมงพื้นบ้าน  เพื่อสร้างพลังในการประกอบอาชีพควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ในพื้นที่ และเร่งพัฒนาการเพาะเลี้ยงในทะเลที่สอดคล้องกับแผนการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ รวมถึงการนําเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากภูมิปัญญาในการแปรรูปมาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และสินค้าประมง
                             ๕.๔ พัฒนาภาคการท่องเที่ยว 
                                      ๕.๔.๑ พัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว โดยส่งเสริมพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับโลกที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น บนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะและของเสียเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบหลายประเทศจุดมุ่งหมายเดียวกัน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเชิงกลุ่มพื้นที่เมืองหลักและเมืองรองที่มีศักยภาพ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงกีฬาและนันทนาการ  การท่องเที่ยวเรือสําราญ และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
                                      ๕.๔.๒ ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ รายได้สูง โดยมุ่งเน้นขยายตลาดคุณภาพพร้อมกับรักษาตลาดเดิม รวมทั้งนําระบบดิจิทัลมาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                                      ๕.๔.๓ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจสปาและแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์ยาและสมุนไพรไทย เพื่อสร้างความหลากหลายของสินค้า และสร้างโอกาสการขยายฐานการผลิตและการตลาดในระดับภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจบริการที่มีศักยภาพสู่ระดับสากล
                                      ๕.๔.๔ ดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด โดยเพิ่มมาตรฐานการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวจากอาชญากรรม การฉ้อฉล และอุบัติเหตุที่เกิดจากความบกพร่องของผู้ประกอบการ เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาความปลอดภัยและให้บริการนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะบริเวณแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำหรือทางทะเล เกาะ หมู่เกาะ ถ้ำ และน้ำตก อํานวยการและบูรณาการความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ   
                                      ๕.๔.๕ ส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวสู่ชุมชน โดยพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจหลัก ธุรกิจรอง ธุรกิจสนับสนุน และการพัฒนาเชื่อมโยงในเชิงกลุ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ของท้องถิ่น ชุมชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและทําธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มากขึ้น อาทิ การพัฒนายุวมัคคุเทศก์  
                             ๕.๕ พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค  
                                      ๕.๕.๑ ส่งเสริมการค้าชายแดนและแก้ไขปัญหาสินค้าชายแดน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ได้พัฒนาไว้แล้ว และให้บริการการดําเนินธุรกิจแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมแบบเบ็ดเสร็จให้เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยระยะแรกจะมุ่งเน้นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยแสวงหาโอกาสทางการค้า การลงทุน หรือขยายฐานการผลิต และการตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ในรูปแบบฐานการผลิตและตลาดร่วม เพื่อใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่องและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนความได้เปรียบของค่าจ้างแรงงาน  
                                      ๕.๕.๒ ส่งเสริมธุรกิจการค้าปลีกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  (e-Commerce) ข้ามพรมแดน โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการรายย่อยให้เหมาะสมสําหรับการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้ผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้โดยตรง พร้อมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการทําธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลทั้งทางการตลาด การเงิน  และระบบโลจิสติกส์  
                                      ๕.๕.๓ ปรับปรุงระบบบริหารจัดการการนําเข้าส่งออกสินค้าบริเวณด่านชายแดน เร่งรัดการจัดรูปแบบการพัฒนาและบูรณาการการบริหารจัดการพื้นที่ด่านชายแดนสําคัญ เช่น ด่านศุลกากร ด่านปศุสัตว์ คลังสินค้า และพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสนับสนุนการค้า การลงทุน และการอํานวยความสะดวกทางการค้า โดยลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐให้น้อยที่สุด รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากกิจกรรมนําเข้าส่งออกสินค้าบริเวณด่านชายแดน   
                             ๕.๖ พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน   
                                      ๕.๖.๑ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ สานต่อการพัฒนารถไฟความเร็วสูง และเริ่มต้นการปรับปรุงระบบรถไฟขนาดราง ๑ เมตร ให้เป็นระบบไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนให้เป็นโครงข่ายหลักในการเดินทางและขนส่งสินค้าของประเทศ และให้ความสําคัญกับการบูรณาการการพัฒนาระบบขนส่งกับการพัฒนาพื้นที่และเมือง  การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้บริการภาคขนส่งและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง การเชื่อมโยง แหล่งท่องเที่ยว การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนนที่สอดประสานกันระหว่างระบบการเตือนภัย การช่วยเหลือกู้ภัย และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยที่มีประสิทธิภาพ  
                                      ๕.๖.๒ แก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่เขตเมือง โดยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองหลักในภูมิภาค การนําระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการควบคุม สั่งการจราจรและวางแผนการเดินทาง การกวดขันวินัยจราจร และการจัดระเบียบที่จอดรถ โดยเฉพาะการจัดให้มีที่จอดรถใต้ดินและบนดินเพิ่มเติม ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมทั้ง พัฒนาทางเท้า ทางจักรยาน และสิ่งอํานวยความสะดวกต่าง ๆ ให้สามารถรองรับความต้องการเดินทางเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
                                      ๕.๖.๓ เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยกระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 และ B100 เพื่อเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ และจัดทําแนวทางการใช้มาตรฐานน้ำมัน EURO5 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิ เทคโนโลยีระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิ แพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้าสุทธิ พร้อมทั้งปรับปรุงระบบการกํากับดูแลกิจการด้านพลังงานให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจด้านพลังงานในอนาคต ดําเนินการให้มีการสํารวจและค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ และร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการพัฒนาพลังงาน   
                                      ๕.๖.๔ ยกระดับโครงข่ายระบบไฟฟ้าและพลังงานให้มีความทันสมัย ทั่วถึง เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยจัดทําแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะทั้งระบบให้สามารถรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานสมัยใหม่ในอนาคต มุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายภายในประเทศให้เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก ตะวันออก เหนือ และใต้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบไฟฟ้าและพลังงานระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในภาคการผลิต  
                                      ๕.๖.๕ พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำประปา โดยพัฒนาแหล่งน้ำดิบ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตและการบริหารจัดการระบบประปาเพื่อลดน้ำสูญเสีย  พัฒนาคุณภาพน้ำประปา ขยายเขตการจ่ายน้ำประปาให้ครอบคลุมพื้นที่ภูมิภาคและแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และสร้างจิตสํานึกของประชาชนในการใช้น้ำอย่างประหยัด  
                                      ๕.๖.๖ แก้ปัญหาระบบระบายน้ำและระบบบําบัดน้ำเสีย  โดยพัฒนาระบบระบายน้ำ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะหรือของเหลือใช้ลงในท่อระบายน้ำ แม่น้ำ และทะเล รวมทั้งพัฒนาระบบรวบรวมและบําบัดน้ำเสียในเขตเมือง โดยใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำเสีย 
                              ๕.๗ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการมุ่งสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ
                                      ๕.๗.๑ รักษาคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อันเป็นสมบัติของชาติให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน และลงทุนในอินเทอร์เน็ต เกตเวย์ และเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 5G เพื่อให้การติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รองรับการเชื่อมต่อจํานวนมากและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้อย่างมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สนับสนุนนโยบายด้านสังคม อาทิ การบริการด้านการศึกษา และการบริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนสร้างโอกาสการพัฒนาอาชีพของประชาชน  
                                     ๕.๗.๒ พัฒนาการอํานวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนธุรกิจ การค้า การนําเข้าส่งออก และโลจิสติกส์ในรูปแบบดิจิทัล โดยพัฒนาการค้าสู่รูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถเชื่อมโยงการค้า การชําระเงิน และการขนส่งสู่ระบบออนไลน์ และให้ความสําคัญกับการใช้ประโยชน์จากการแบ่งปันทรัพยากรหรือพื้นที่ในการขนส่งสินค้า พร้อมทั้งนําเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการดําเนินงาน อาทิ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ระบบปัญญาประดิษฐ์ ระบบอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT)  และระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตลอดจนเร่งรัดการพัฒนาระบบเชื่อมโยงระบบเครือข่ายข้อมูล ในกระบวนการนําเข้าส่งออกและโลจิสติกส์ในลักษณะเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวให้สมบูรณ์ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล  
                                      ๕.๗.๓ ส่งเสริมการค้าในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั้งในภาคการผลิตและบริการในการเข้าถึงตลาด โดยการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และจูงใจให้เกิดการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการทบทวนกฎหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ การคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการดําเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความสามารถของผู้ประกอบการไทยที่ให้บริการแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ โลจิสติกส์ และระบบการชําระเงินให้ได้มาตรฐานสากล เชื่อมโยง และบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐเพื่ออํานวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงส่งเสริมการกํากับดูแลที่มีมาตรฐานและเอื้อต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการทุกขนาด ตลอดจนช่วยเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจของกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศในประเทศไทย รวมทั้งยกระดับมาตรฐานร้านค้าปลีกให้เข้าสู่การค้าออนไลน์ เพื่อลดผลกระทบจากพฤติกรรม ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
                             ๕.๘ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม   
                                       ๕.๘.๑ พัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลต่อการพัฒนาต่อยอดจากผลการวิจัยให้นําไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็น และมีกลไกดําเนินการที่บูรณาการทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการตลอดห่วงโซ่มูลค่าให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลและตัวชี้วัดภายใต้กรอบขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม    
                                       ๕.๘.๒ สร้างระบบจัดการข้อมูลเพื่อรองรับการบริหารจัดการงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงระบบงานวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการส่งเสริมการดําเนินงานด้านการวิจัยที่ต่อยอด ไปสู่การสร้างนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการต่อยอดงานวิจัย สู่การเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์   
                                             ๕.๘.๓ เสริมสร้างการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มุ่งเน้นการพัฒนาระบบ คุณภาพและมาตรฐานที่เป็นปัจจัยนําไปสู่การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง และสามารถนําไปใช้ได้จริง และใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศให้มากที่สุด        
                                        ๕.๘.๔ สนับสนุนการพัฒนาโรงงาน ห้องปฏิบัติการต้นแบบ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมในระดับต้นน้ำ โดยเฉพาะโรงงานและห้องปฏิบัติการนําร่อง ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว  [Bio-Circular-Green (BCG) Economy] และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากภาคธุรกิจเอกชน ไปพร้อมกัน  
                             ๕.๙ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่   
                                       ๕.๙.๑ พัฒนาระบบนิเวศเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ อาทิ เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจวัฒนธรรม พร้อมทั้ง ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการยุคใหม่สามารถพัฒนาแอปพลิเคชัน นวัตกรรม สินค้าและบริการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ของผู้บริโภคและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม 
                                       ๕.๙.๒ เร่งรัดพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งในภาคการผลิตและบริการให้สามารถแข่งขันได้ โดยการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้สามารถใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินธุรกิจ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตลาด รวมทั้งสนับสนุนการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น โดยพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้ออํานวยต่อการดําเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านสิทธิประโยชน์ แหล่งเงินทุน แรงงานคุณภาพ กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการมี ความสามารถในการแข่งขันและขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้ และเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยในระยะต่อไป  
                                       ๕.๙.๓ ส่งเสริมเยาวชนและบทบาทสตรีในการเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ โดยการสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมผ่านการศึกษา และการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเทคโนโลยี แหล่งเงินและการระดมทุน  เพื่อกระตุ้นและเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถนําเสนอแนวคิด พัฒนาแอปพลิเคชัน นวัตกรรม และดําเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง    
                                       ๕.๙.๔ ดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะสูงเข้ามาช่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ของไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมขั้นสูง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ของไทยสามารถทํางานร่วมกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยและพัฒนา ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง   
                    ๖. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 
                     การใช้ประโยชน์จากศักยภาพและโอกาสของพื้นที่จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและสร้างโอกาสการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา ลดการกระจุกตัวของการพัฒนาและประชากรของเมืองใหญ่ในปัจจุบัน โดยการสร้างสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองที่สงบสุข เพียงพอ และแก้ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน โดยมีนโยบาย ดังนี้  
                             ๖.๑ ส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย  
                                      ๖.๑.๑ พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง  โดยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยให้เป็นไปตามเป้าหมาย พัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นเมืองมหานครการบิน ศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย และเมืองอัจฉริยะที่มีความน่าอยู่ และทันสมัยระดับนานาชาติ ยกระดับภาคการเกษตรให้เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม คมนาคม ดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเร่งพัฒนาบุคลากร รวมทั้งทบทวนกฎระเบียบ เพื่อรองรับและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
                                      ๖.๑.๒ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าทางทะเลของประเทศและของภาคใต้ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังเอเชียใต้ พัฒนาการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย และพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรจากทรัพยากรในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งให้ความสําคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม และการพัฒนาเมืองน่าอยู่
                                       ๖.๑.๓ เพิ่มพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งใหม่ในภูมิภาค อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจหลักเชิงพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ และพื้นที่ที่มีความได้เปรียบเชิงที่ตั้งที่สามารถพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมในอนาคต โดยพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้ง การจัดการผลกระทบที่อาจมีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  
                                      ๖.๑.๔ เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนและยกระดับการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทบทวนการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนให้เหมาะสมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามศักยภาพพื้นที่ พัฒนาเมืองชายแดนให้มีความน่าอยู่ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการดูแลด้านความมั่นคงและรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ และส่งเสริมให้ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน   
                             ๖.๒ ส่งเสริมและเร่งรัดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ทั่วประเทศ  โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น เมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สงขลา และภูเก็ต ภายใต้แนวคิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองน่าอยู่ที่มีระบบ เศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่   
                    ๗. การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก 
                          รัฐบาลให้ความสําคัญกับชุมชนในการนําความรู้และทรัพยากรในพื้นที่ มาผลิตเป็นสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถสร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ชุมชน สนับสนุนสินค้าชุมชนและยกระดับวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาช่องทางการตลาดเชื่อมโยงกับระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสร้างพลังสังคม พลังชุมชน รวมทั้งสร้างการเรียนรู้ ฝึกอาชีพกลุ่มอิสระในการร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายดําเนินการ ดังนี้
                             ๗.๑ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน   
                                      ๗.๑.๑ สร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจชุมชนผ่านอัตลักษณ์ของพื้นที่  โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ของไทย ผู้ประกอบการหนึ่งตําบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และสหกรณ์ในชุมชนให้สามารถใช้ประโยชน์และต่อยอดจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทรัพยากรในพื้นที่ รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนที่มีอัตลักษณ์และมีมาตรฐานการผลิตตามหลักสากล ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึง นําไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดมากขึ้น  
                                      ๗.๑.๒ สนับสนุนความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนผ่านเทคโนโลยี โดยพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถทั้งในการบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่ การสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งในเชิงกระบวนการผลิต การนําเสนอสินค้าหรือบริการและการตลาด มีความสามารถในการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับการดําเนินธุรกิจได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดทั้งใน และต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมแนวคิดการทําธุรกิจภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) โดยเริ่มต้นจากการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและบริการของภาครัฐ เครื่องจักรและอุปกรณ์ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่   
                                      ๗.๑.๓ สร้างโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยและบริการทางการเงินของวิสาหกิจชุมชน โดยจัดหาแหล่งเงินทุนและสนับสนุนให้มีช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย และเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศผ่านช่องทางการตลาดและการชําระเงินรูปแบบใหม่ด้วยระบบออนไลน์หรื ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อประสาน แลกเปลี่ยนความรู้ ใช้ประโยชน์จากข้อมูล และเชื่อมต่อกิจกรรมร่วมกัน
                                       ๗.๑.๔ ส่งเสริมการลงทุนในชุมชนเพื่อสร้างงานในชุมชน  โดยพัฒนาระบบและกลไก รวมทั้งพัฒนากลุ่มอาชีพตามศักยภาพของประชาชนในพื้นที่  เพื่อกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนในชุมชนและท้องถิ่น แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม  ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และลดอัตราการย้ายถิ่นเพื่อทํางานในเมือง สนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนตามความพร้อมและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ ใช้เศรษฐกิจดิจิทัลต่อยอดการพัฒนา ควบคู่กับการส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน ด้วยการส่งเสริมการเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจหลัก กับเศรษฐกิจชุมชนในทุกภาคการผลิต ทั้งในภาคอุตสาหกรรม บริการ และการท่องเที่ยว   
                                      ๗.๑.๕ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดําเนินธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน โดยพัฒนาและบูรณาการฐานข้อมูลที่สนับสนุนการประกอบธุรกิจให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ง่าย อาทิ องค์ความรู้ ผลการวิจัยและพัฒนาการตลาดและนวัตกรรม  สร้างระบบจูงใจให้เกิดความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนการยกระดับสินค้าและบริการของวิสาหกิจชุมชนทั้งในด้านการกําหนดมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรองให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
                             ๗.๒ สร้างความเข้มแข็งของชุมชน
                                       ๗.๒.๑ สร้างผู้นําชุมชน ยกย่องปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลง เป็นวิทยากรในการขับเคลื่อนและสร้างกลไกการทํางานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนา กิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่ส่งผลต่อการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง การปรับเปลี่ยนค่านิยมคนไทยให้เสียสละ มีจิตอาสา จิตสาธารณะ เอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่น และเป็นพลังสําคัญในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำ  การพัฒนาตนเองและการจัดการของชุมชนท้องถิ่น    
                                      ๗.๒.๒ ยกระดับคุณภาพตลาดชุมชน สถาบันการเงินของชุมชน สวัสดิการชุมชน สาธารณสุขชุมชน ป่าชุมชน ไม้มีค่า ท่องเที่ยวชุมชน และส่งเสริมการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งด้านการผลิต แหล่งเงินทุน โลจิสติกส์ ข้อมูล การแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญเพื่อต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่าธุรกิจ พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มให้สามารถเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ การผลิตของภาค รวมถึงกํากับดูแลมาตรฐานสินค้าให้ได้มาตรฐานสากลและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนจัดสวัสดิการที่จําเป็นภายในชุมชน  
                                      ๗.๒.๓ แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทํากิน สร้างชุมชนที่น่าอยู่ มุ่งเน้นการจัดการที่อยู่อาศัย การพัฒนาทักษะอาชีพ และการพัฒนาพื้นที่เมืองแบบองค์รวม  เพื่อพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง สังคมที่เอื้ออาทร มีความสะดวกสบาย ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  มีวัฒนธรรมและจิตวิญญาณที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองและชุมชน และมีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน    
                                      ๗.๒.๔ สร้างพลังในชุมชน โดยส่งเสริมให้เกิดการสร้างพลังทางสังคม ภาคีเครือข่าย การรวมตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชนมาเป็นกําลังในการพัฒนาเพื่อส่วนรวม  โดยให้ความสําคัญกับการสร้างพลังจิตอาสา สร้างพลังแผ่นดินเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างเอกภาพแก่กลุ่มอาสาสมัครรูปแบบต่าง ๆ การสร้างพลังสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมของคนทุกวัยผ่านการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ และการสร้างพลังภูมิคุ้มกัน เพื่อการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ และประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและเตือนภัย  
                                      ๗.๒.๕ สร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง เน้นส่งเสริมและสนับสนุน ให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจกําหนดนโยบายและมาตรการของภาครัฐ โดยเริ่มจากการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนําเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสวัสดิการในระดับชุมชน เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในบริบทสังคมไทย 
                             ๗.๓ ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฐานราก โดยการสร้าง “คุณค่าร่วม” ระหว่างภาคธุรกิจ สังคม และผู้บริโภค ที่ครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคมในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชน เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นหรือช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาชุมชน อาทิ การจ้างงานผู้พิการ หรือผู้ผ่านการต้องขัง เพื่อช่วยยกระดับ คุณภาพชีวิตและความสุขของคนในชุมชน
 
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ 
                   การพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมในการดํารงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อให้คนไทยในอนาคตเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีแบบแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลได้กําหนดนโยบายในการพัฒนาที่มุ่งพัฒนาคนในทุกมิติตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัยให้มีความสมบูรณ์ เป็นคนดี มีวินัย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งการพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสมแก่ประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ โดยมีนโยบายการพัฒนาที่สําคัญ ดังนี้  
                   ๘. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย  
                             ๘.๑ ส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย 
                                      ๘.๑.๑ จัดให้มีระบบพัฒนาเด็กแรกเกิดอย่างต่อเนื่องจนถึง เด็กวัยเรียนให้มีโอกาสพัฒนาตามศักยภาพ เพื่อสร้างคนไทยที่มีพัฒนาการเต็มตามศักยภาพผ่านครอบครัวที่อบอุ่นในทุกรูปแบบครอบครัว เพื่อส่งต่อการพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพสู่การพัฒนาในระยะถัดไปบนฐานการให้ความช่วยเหลือที่คํานึงถึงศักยภาพของครอบครัวและพื้นที่ เตรียมความพร้อมการเป็นพ่อแม่ ความรู้เรื่องโภชนาการและสุขภาพ  การอบรมเลี้ยงดู การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยผ่านการให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาและผู้ดูแลเด็กปฐมวัยให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่าง มีคุณภาพ
                                      ๘.๑.๒ ส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยคํานึงถึงพหุปัญญาที่หลากหลายของเด็กแต่ละคนให้ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ ผ่านการออกแบบ การจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับระบบโรงเรียนปกติที่เป็นระบบและมีทิศทางที่ชัดเจน 
                             ๘.๒ พัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ 
                                      ๘.๒.๑ ปรับรูปแบบการเรียนรู้และการสอนเพื่อพัฒนาทักษะ และอาชีพของคนทุกช่วงวัยสําหรับศตวรรษที่ ๒๑ โดยปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย มีการนําเทคโนโลยีและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงเข้ามามีส่วนในการจัดการเรียนการสอน และปรับระบบดึงดูด การคัดเลือก การผลิตและพัฒนาครู ที่นําไปสู่การมีครูสมรรถนะสูง เป็นครูยุคใหม่ที่สามารถออกแบบและจัดระบบการสร้างความรู้ สร้างวินัย กระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์มุมมองของเด็กและครูด้วยการสอนในเชิงแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้น ควบคู่กับหลักการทางวิชาการ  
                                      ๘.๒.๒ จัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทํางานเพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนทั้งในส่วนฐานความรู้และระบบความคิดในลักษณะสหวิทยาการ และตรงกับความต้องการของประเทศในอนาคต และเป็นผู้เรียนที่สามารถปฏิบัติได้จริงและสามารถกํากับการเรียนรู้ของตนเองได้ รวมถึงมีทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาที่สามที่สามารถสื่อสารและแสวงหาความรู้ได้ มีความพร้อมทั้งทักษะความรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน   
                             ๘.๓ พัฒนาอาชีวะ พัฒนาคุณภาพวิชาชีพ และพัฒนาแรงงานรองรับอุตสาหกรรม ๔.๐ โดยการจัดระบบและกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ชัดเจนเป็นระบบในการพัฒนากําลังคนที่มีทักษะขั้นสูงให้สามารถนําความรู้และทักษะมาใช้ในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการสร้างและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งต้องครอบคลุมการพัฒนากําลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมแล้ว กําลังคนที่กําลังจะเข้าสู่อุตสาหกรรม และเตรียมการสําหรับผลิตกําลังคนในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต รวมทั้งเร่งรัด และขยายผลระบบคุณวุฒิวิชาชีพ การยกระดับฝีมือแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น 
                             ๘.๔ ดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาร่วมทํางานกับคนไทย และส่งเสริมผู้มีความสามารถสูง สนับสนุนให้ธุรกิจชั้นนําในประเทศดึงดูดบุคคลที่มีความสามารถระดับสูงจากทั่วโลกโดยเฉพาะคนไทย เพื่อกลับมาเป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลงและถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรในองค์กร ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศ โดยในระยะแรกให้ความสําคัญกับการดึงดูดนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งมีพื้นที่ให้กลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษที่มีศักยภาพสูงได้ทํางานร่วมกัน หรือร่วมกับ เครือข่ายอื่น ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศ  
                             ๘.๕ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ   
                                      ๘.๕.๑ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อขจัด ความเหลื่อมล้ำและความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคมและนวัตกรรมในเชิงพื้นที่ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสสําหรับผู้ด้อยโอกาส และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยควบคู่ไปกับการพัฒนาทุนมนุษย์ให้พร้อมสําหรับโลกยุคดิจิทัลและอุตสาหกรรม ๔.๐ ตามความเหมาะสมได้อย่างเป็นรูปธรรม  โดยระยะแรกจะให้ความสําคัญกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพของประชาชนอย่างครบวงจร ทั้งระบบยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย 
                                      ๘.๕.๒ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง และสร้างความเป็นเลิศของประเทศในอนาคต โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อนํามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ กําหนดวาระการวิจัยแห่งชาติ ส่งเสริมความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ชุมชน และภาคเอกชน ในทุกสาขาการผลิตและบริการ สร้างสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบของระบบวิจัยและ การพัฒนานวัตกรรมให้เข้มแข็ง รวมทั้งบูรณาการการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับการนําไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์   
                                      ๘.๕.๓ สร้างเครือข่ายการทําวิจัยระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ปฏิรูปและบูรณาการระบบการเรียนการสอนกับระบบงานวิจัยและพัฒนา ให้เอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศ เพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจไทยทุกระดับในเวทีการค้าโลก ส่งเสริมกระบวนการการทํางานของภาครัฐและภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมให้เป็นระบบเปิด และมีการบูรณาการการทํางานกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเชื่อมโยงระบบการศึกษากับภาคปฏิบัติจริงในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างนักวิจัยมืออาชีพและนวัตกรที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับงานวิจัย สู่การเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ  
                             ๘.๖ ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทุกช่วงวัย   
                                      ๘.๖.๑ มุ่งเน้นการพัฒนาโรงเรียนควบคู่กับการพัฒนาครู  เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษาในทุกระดับบนพื้นฐานการสนับสนุนที่คํานึงถึงความจําเป็นและศักยภาพของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง พร้อมทั้งจัดให้มีมาตรฐานขั้นต่ำของโรงเรียนในทุกระดับ และสร้างระบบวัดผลโรงเรียนและครูที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน คืนครูให้นักเรียนโดยลดภาระงานที่ไม่จําเป็น รวมถึงจัดให้มีระบบฐานข้อมูล เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการเชื่อมโยงหรือส่งต่อข้อมูลครอบครัวและผู้เรียนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงการพัฒนาตลอดช่วงชีวิต ตลอดจนพัฒนาช่องทางให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต  
                                      ๘.๖.๒ พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัล พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการนําเทคโนโลยีสารสนเทศและการสร้างสรรค์ที่เหมาะสมมาใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์แบบเปิดที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจและเหมาะสมกับช่วงวัย ตลอดจนพัฒนาแหล่งเรียนรู้และอุทยานการเรียนรู้สําหรับเยาวชนที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีกับวิถีชีวิต และส่งเสริมการเรียนการสอนที่เหมาะสมสําหรับผู้ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย
                                      ๘.๖.๓ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยบูรณาการการดําเนินงานระหว่างหน่วยจัดการศึกษากับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มุ่งเน้นกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความจําเป็นของผู้เรียนและลักษณะพื้นที่ของสถานศึกษา จัดระบบโรงเรียนพี่เลี้ยง จับคู่ระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพการศึกษาดีกับโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และการส่งเสริมให้ภาคเอกชน ชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษาในพื้นที่ สนับสนุนเด็กที่มีความสามารถแต่ไม่มีทุนทรัพย์เป็นกรณีพิเศษ ตลอดจนแก้ไขปัญหาหนี้สินทางการศึกษา โดยการปรับโครงสร้างหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และทบทวนรูปแบบการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่เหมาะสม  
                                      ๘.๖.๔ พัฒนาทักษะอาชีพทุกช่วงวัย โดยกําหนดระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะและเพิ่มประสิทธิภาพของทุกช่วงวัย อาทิ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้เชื่อมโยงกับระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีกลไกการวัดและประเมินผลเพื่อเทียบโอนความรู้และประสบการณ์หน่วยการเรียนที่ชัดเจน ส่งเสริมเยาวชนที่มีศักยภาพด้านกีฬาให้สามารถพัฒนาไปสู่นักกีฬาอาชีพ การกําหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน การจัดให้มีระบบที่สามารถรองรับความต้องการพัฒนาปรับปรุงทักษะอาชีพของทุกช่วงวัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนสายอาชีพ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่อาจจะเปลี่ยนไปตามแนวโน้มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอนาคต   
                                      ๘.๖.๕ ส่งเสริมหลักคิดที่ถูกต้อง โดยสอดแทรกการปลูกฝังวินัยและอุดมการณ์ที่ถูกต้องของคนในชาติ หลักคิดที่ถูกต้องด้านคุณธรรม จริยธรรม การมีจิตสาธารณะ การเคารพกฎหมาย และกติกาของสังคมเข้าไปในทุกสาระวิชาและในทุกกิจกรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมกลไกสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวในทุกมิติอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ปรับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาให้เอื้อต่อการมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ รวมทั้งลงโทษผู้ละเมิดบรรทัดฐานที่ดีทางสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนประเทศ   
                             ๘.๗ จัดทําระบบปริญญาชุมชนและการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น  เน้นออกแบบหลักสูตรระยะสั้นตามความสนใจ พัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่ใช้ในการดํารงชีวิตประจําวันและทักษะอาชีพของคนทุกช่วงวัยในพื้นที่และชุมชนเป็นหลัก พร้อมทั้งศึกษาแนวทางการพัฒนาเป็นรูปแบบธนาคารหน่วยกิต ซึ่งเป็นการเรียนเก็บหน่วยกิตของวิชาเรียนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนข้ามสาขาวิชาและข้ามสถาบันการศึกษา หรือทํางานไปพร้อมกัน หรือเลือกเรียนเฉพาะหลักสูตรที่สนใจ เพื่อสร้างโอกาสของคนไทยทุกช่วงวัยและทุกระดับสามารถพัฒนาตนเองทั้งในด้านการศึกษาและการดํารงชีวิต   
 


                                    ๙. การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม
                              มุ่งเน้นการจัดบริการสาธารณสุขและระบบความคุ้มครองทางสังคม ที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมนําไปสู่ความเสมอภาค ประกอบด้วย 
                             ๙.๑ พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข แพทย์สมัยใหม่ และแพทย์แผนไทย ให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีคุณภาพทัดเทียมกันทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงการยกระดับไปสู่ความเชี่ยวชาญในด้านการแพทย์แม่นยํา และยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ โดยอยู่บนพื้นฐานหลักประสิทธิภาพและความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ ส่งเสริมให้มีมาตรการสร้างเสริมสุขภาวะและอนามัยให้คนไทยทุกช่วงวัยมีสุขภาพแข็งแรงและลดอัตราการเจ็บป่วยโรคเรื้อรัง  พร้อมทั้งจัดให้มีสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเหมาะสมและพอเพียง   
                             ๙.๒ ส่งเสริมการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ  โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาวะที่ถูกต้องของคนทุกกลุ่มวัย ส่งเสริมการเล่นกีฬาและออกกําลังกายเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ สร้างระบบรับมือต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ทั้งระบบติดตาม เฝ้าระวัง และการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอย่างครบวงจรและบูรณาการ จัดระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลอย่างทั่วถึง และส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกพื้นที่  
                             ๙.๓ พัฒนาและยกระดับความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นหมอประจําบ้านควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์ เร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพให้ทั่วถึงและครอบคลุมประชากรทุกภาคส่วน ลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการในแต่ละระบบ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริการสาธารณสุขในชุมชนผ่านการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกลควบคู่ไปกับการเพิ่มบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน และการยกระดับคุณภาพการบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล เพื่อให้ประชาชนในทุกครัวเรือนทุกพื้นที่โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนสามารถเข้าถึงหน่วยบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว  
                             ๙.๔ สร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมด้านการศึกษา สุขภาพ การมีงานทําที่เหมาะสมกับประชากรทุกกลุ่ม มีการลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้าหมาย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยตรง จัดให้มีระบบบําเหน็จบํานาญ หลังพ้นวัยทํางาน ปฏิรูประบบภาษีให้ส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาผ่านกลไกกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพการศึกษา ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับ ความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทํางาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ ที่เหมาะสมแก่การดํารงชีพ
 
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ   
                   การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไป จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศ และการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ การบริหารราชการแผ่นดินในระยะต่อไป จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคํานึงถึงผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสังคมโลกต้องมุ่งมั่นดําเนินการ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนา รัฐบาลจึงได้กําหนดนโยบายการพัฒนาในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้   
                   ๑๐. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
                    ๑๐.๑ ปกป้อง รักษา ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยให้ความสําคัญกับการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ เพื่อสร้างสมดุลทางธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชายเลน  และป่าชุมชน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง หยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างจริงจัง รวมถึงเร่งฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม แก้ไขกฎหมายป่าไม้ที่ซ้ำซ้อน เร่งคืนพื้นที่ป่า โดยการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าและสามารถทํากินได้อย่างเหมาะสม นําเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกบุกรุกและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมบทบาทของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) พร้อมทั้งรณรงค์สร้างจิตสํานึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน   
                             ๑๐.๒ ปรับปรุงระบบที่ดินทํากินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน โดยจัดสรรที่ดินทํากินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกรตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ การกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำ และมีมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในครอบครองของผู้ที่มิใช่เกษตรกรและผู้ยากจน จัดทําระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการที่ดิน จัดทําหลักฐานการถือครองที่ดินของรัฐทุกประเภท จัดทําแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน และเร่งแก้ไขปัญหาเขตที่ดินทับซ้อน และแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจน เพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ   
                             ๑๐.๓ ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แหล่งน้ำชุมชน และทะเล โดยเชื่อมโยงกับแผนบริหารจัดการน้ำ ๒๐ ปีของประเทศ เพิ่มผลิตผลในการจัดการและการใช้น้ำทุกภาคส่วน จัดให้มีน้ำสะอาดใช้ทุกครัวเรือนในชุมชนชนบท ในปริมาณ คุณภาพ และราคา ที่เข้าถึงได้ มีระบบการจัดการน้ำชุมชนที่เหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริม ฟื้นฟู อนุรักษ์ พื้นที่ต้นน้ำพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่พักน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ แอ่งน้ำบาดาล การระบายน้ำชายฝั่ง เพิ่มผลิตภาพของน้ำทั้งระบบ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำให้ทัดเทียมระดับสากล ดูแลภัยพิบัติจากน้ำ พัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างระบบ จัดสรรน้ำที่เป็นธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำในชุมชนตามแนวพระราชดําริ
                             ๑๐.๔ สร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรแร่ และทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งเพื่อการพัฒนาประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่อย่างเหมาะสม เป็นธรรม และคํานึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของภาคประชาชน จัดทําเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองบนพื้นฐานศักยภาพแร่และมีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อย่างเหมาะสม ดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยบริหาร จัดการเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัดโดยใช้แผนที่การจําแนกเขตทางทะเล และชายฝั่ง (one marine chart) บริหารจัดการทรัพยากรแร่และแหล่งพลังงานในทะเล รวมทั้งมลพิษและขยะในทะเลให้มีประสิทธิภาพ จัดทําผังชายฝั่งและฝั่งทะเลที่ชัดเจน และกําหนดพื้นที่การพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและสอดคล้องกับภูมิศาสตร์ และทรัพยากรในพื้นที่ รักษาแนวปะการังที่สําคัญต่อการท่องเที่ยว รักษาป่าชายเลนและแหล่งหญ้าทะเลที่สําคัญต่อประมงและสัตว์หายาก
                             ๑๐.๕ แก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างสังคมคาร์บอนต่ำและปลอดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน กําหนดมาตรการควบคุมการเผาพื้นที่เพื่อทําการเพาะปลูก ปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ และการสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชน ในการรับมือและปรับตัวเพื่อลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และภาคเอกชนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ปรับปรุงระบบบริหารจัดการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วมและให้สัตยาบันไว้    
                             ๑๐.๖ พัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยการนําความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการขยะหรือของเสีย เพื่อนําไปใช้ในกระบวนการผลิตหรือบริโภคที่หลากหลายและทําให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า    
                             ๑๐.๗ พัฒนากลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสําคัญกับการจัดทําระบบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ มาใช้เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถในการกําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม และบูรณาการการทํางานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ  ทั้งระดับประเทศ รายสาขา และเชิงพื้นที่ เพื่อนําไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดความขัดแย้งระหว่างยุทธศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะระหว่างยุทธศาสตร์รายสาขากับยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่  
                            ๑๐.๘ แก้ไขปัญหาการจัดการขยะและของเสียอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการส่งเสริมและให้ความรู้ในการลดปริมาณขยะในภาคครัวเรือนและธุรกิจ การนํากลับมาใช้ซ้ำ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดปริมาณและต้นทุนในการจัดการขยะของเมือง และสามารถนําขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย รวมทั้งพัฒนาโรงงานกําจัดขยะและของเสียอันตรายที่ได้มาตรฐาน  
                   ๑๑. การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ 
                               เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปฏิรูประบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยการนําเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการให้บริการของภาครัฐ และการบูรณาการการทํางานของหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมจะต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง กฎหมายจะต้องได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัย เป็นธรรม และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม โดยรัฐบาลได้กําหนดนโยบายการดําเนินการ ดังนี้  
                             ๑๑.๑ พัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ โดยพัฒนาให้ภาครัฐมีขนาดที่เหมาะสม มีการจัดรูปแบบองค์กรใหม่ที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว และเหมาะสมกับบริบทของประเทศ รวมทั้งจัดอัตรากําลังเจ้าหน้าที่ของรัฐให้สอดคล้องกับโครงสร้างหน่วยงานและภารกิจงานที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐให้สามารถรองรับบริบทการเปลี่ยนแปลง และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมทั้ง ปรับเปลี่ยนระบบการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดความเชื่อมโยงสอดคล้องกันตั้งแต่ขั้นวางแผน การนําไปปฏิบัติ การติดตามประเมินผล การปรับปรุงการทํางานให้มีมาตรฐานสูงขึ้น และปรับปรุงโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น  
                             ๑๑.๒ ปรับเปลี่ยนกระบวนการอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ ที่มีความสําคัญต่อการประกอบธุรกิจและดําเนินชีวิตของประชาชนให้เป็นระบบดิจิทัล และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ พร้อมทั้งพัฒนาโปรแกรมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างทันทีและทุกเวลา   
                             ๑๑.๓ พัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ในการบริหารราชการแผ่นดินที่มีระบบการวิเคราะห์ และแบ่งปันข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในระบบบริการประชาชนที่เป็นไปตามความต้องการเฉพาะตัวบุคคล มากขึ้น   
                             ๑๑.๔ เปิดเผยข้อมูลภาครัฐสู่สาธารณะ โดยหน่วยงานของรัฐในทุกระดับ ต้องเปิดเผยและเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน ทั้งในระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง และระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจถึงสถานการณ์  และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศที่มีความซับซ้อน ปรับเปลี่ยนให้เป็นการทํางานเชิงรุก เน้นการยกระดับไปสู่ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง แสวงหาความคิดริเริ่ม และสร้างนวัตกรรม โดยมีการคาดการณ์สถานการณ์ วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
                             ๑๑.๕ ส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ โดยสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาข้าราชการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดให้คํานึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมกับยึดมั่นในหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีสมรรถนะ และความรู้ความสามารถพร้อมต่อการปฏิบัติงาน ดําเนินการปรับปรุงสวัสดิภาพชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนสร้างขวัญกําลังใจและความผูกพันในการทํางาน   
                             ๑๑.๖ พัฒนากลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาบริการสาธารณะ และการตรวจสอบภาครัฐ โดยการสร้างความเข้าใจถึงหลักการบริหารราชการขั้นพื้นฐาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคและลดข้อจํากัดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรภาคประชาสังคม และเอกชน สามารถเข้ามาดําเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์และมีบทบาทในการพัฒนาบริการสาธารณะในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ภาครัฐในทุก ๆ ด้าน  
                             ๑๑.๗ ปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย เพื่อเอื้อต่อการทําธุรกิจและการใช้ ชีวิตประจําวัน  
                                      ๑๑.๗.๑ ปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการ การอํานวยความสะดวก ต้นทุนค่าใช้จ่าย กฎหมาย กฎ และระเบียบต่าง ๆ ของภาครัฐ ให้สามารถสนับสนุนและเอื้อต่อการประกอบธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงบริบทต่าง ๆ โดยครอบคลุมกระบวนการตั้งแต่จัดตั้งธุรกิจจนถึงการปิดกิจการ พร้อมทั้งกํากับและส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ยุติธรรม เสมอภาค เท่าเทียม ถูกต้องตามหลักนิติธรรม และเป็นไปตามปฏิญญาสากล ตลอดจน เร่งรัดการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐให้มีความเชื่อมโยงกัน อย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการได้โดยสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส  และตรวจสอบได้   
                                        ๑๑.๗.๒ ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐจัดให้มีสนามทดลองแนวคิด ทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมใหม่ภายใต้การกํากับดูแลของหน่วยงาน เพื่อนําไปสู่การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ และการพัฒนาปรับปรุง กฎระเบียบให้ทันสมัยต่อไป
                                      ๑๑.๗.๓ ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม โดยกํากับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้าและติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการผูกขาดอย่างใกล้ชิด บังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็วและเสมอภาคของประชาชน                             
                         ๑๑.๘ กระจายอํานาจ ความรับผิดชอบ และเพิ่มบทบาทการปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่งเสริมบทบาทของเอกชนและชุมชนในการให้บริการสาธารณะ โดยเร่งพัฒนาองค์กรและบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีศักยภาพ และมีความรับผิดชอบมากขึ้นทั้งในการบริหารและการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเองตามหลักธรรมาภิบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมบทบาทของเอกชนและชุมชนท้องถิ่นและภาคีอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการจัดให้มีบริการสาธารณะต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน เพื่อนําไปสู่การยกระดับมาตรฐานการให้บริการของรัฐให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากลและสนับสนุนการพัฒนายุทธศาสตร์เชิงพื้นที่  
                   ๑๒. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ กระบวนการยุติธรรม   
                             ๑๒.๑ แก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยจัดให้มีมาตรการและระบบเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันและลดการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างจริงจังและเข้มงวด รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการติดตามการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งเร่งสร้างจิตสํานึกของคนในสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ถูกต้อง ชอบธรรม  และสนับสนุนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตประพฤติมิชอบ  
                             ๑๒.๒ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยส่งเสริมให้มีรูปแบบการลงโทษอื่น ที่ไม่ใช่โทษอาญาตามหลักสากล มุ่งเน้นยกระดับการพัฒนาระบบ แก้ไข บําบัด ฟื้นฟูผู้กระทําผิด ส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน พัฒนาประสิทธิภาพระบบการสืบสวนสอบสวน ด้านการปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ กําหนดมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมให้สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงําใด ๆ พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้ดําเนินงานสอดประสานกันอย่างเป็นองคาพยพ เพื่อให้สามารถจัดการกับข้อขัดแย้งและกรณีพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการทํางานเชิงรุก รวมทั้งพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้สามารถอํานวยความยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส รวดเร็ว ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้ และสร้างสังคมที่พัฒนาอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียม พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการนําเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมาย พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นธรรม รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จําเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึง กระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกและรวดเร็ว 
 
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ 
                   นโยบายหลักทั้ง ๑๒ ด้านของรัฐบาลที่กระผมกล่าวมาข้างต้น จะเป็นทิศทางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในช่วง ๔ ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์และปัญหาที่ประเทศไทยกําลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้องของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รัฐบาลได้กําหนดเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดําเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาและลดผลกระทบกับประชาชน และระบบเศรษฐกิจ ดังนี้
 
นโยบายเร่งด่วน ๑๒ เรื่อง 
                   ๑. การแก้ไขปัญหาในการดํารงชีวิตของประชาชน โดยลดข้อจํากัดในการประกอบอาชีพของคนไทย การจัดการระบบการขนส่งสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ทบทวนรูปแบบและมาตรฐานหาบเร่แผงลอยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อยังคงเอกลักษณ์ของเมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมถนน ทําให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม แก้ไข ปัญหาหนี้สินและลดภาระหนี้สินของประชาชนในกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้สินนอกระบบ การฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนโดยครอบคลุมไปถึงการฉ้อโกงหลอกลวง ผ่านระบบออนไลน์ ปรับปรุงระบบภาษีและการให้สินเชื่อที่เอื้อให้ประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ตามความพร้อม ปรับปรุงระบบที่ดินทํากินให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ จัดทําแนวทางการกําหนดสิทธิและการจัดการสิทธิในที่ดินของเกษตรกรที่เหมาะสม ลดอุปสรรคในธุรกิจประมงพาณิชย์และประมงชายฝั่ง รวมทั้งช่วยเหลือดูแลประมงพื้นบ้านโดยยังต้องสอดคล้องกับมาตรฐานด้านการประมงขององค์กรระหว่างประเทศ   
                   ๒. การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน  โดยปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเบี้ยยังชีพของประชาชน อาทิ ผู้สูงอายุและคนพิการที่มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และพิจารณาขยายความครอบคลุมไปยังกลุ่มมารดาตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด และเด็กวัยเรียนที่ครอบครัวมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และเร่งรัดการพัฒนาระบบบริการ สุขภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการในแต่ละระบบ ลดภาระการเดินทางไปสถานพยาบาลของประชาชน และลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) ระบบการแพทย์ทางไกล  และภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนสามารถเข้าถึงหน่วยบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และได้รับการบริการอย่างมีคุณภาพ 
                   ๓. มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเร่งกระบวนการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว จัดเตรียมมาตรการรองรับการกีดกันทางการค้าและมาตรการสนับสนุนเพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออก ให้ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ปรับปรุงทิศทางการส่งออกไปยัง ตลาดอื่นโดยเร็ว ขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจกับประเทศที่มีศักยภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งในส่วนของเมืองหลัก เมืองรอง และการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อกระจายรายได้ในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน เพื่อสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายในประเทศในช่วงที่มีข้อจํากัดด้านการส่งออก และส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม 
                   ๔. การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม โดยจัดพื้นที่การเกษตรให้สอดคล้องกับระบบบริหารจัดการน้ำและคุณภาพของดินตาม Agri-Map กําหนดเป้าหมายรายได้เกษตรกรให้สามารถมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพในสินค้าเกษตรสําคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสําปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด ด้วยการชดเชย การประกันรายได้ ส่งเสริมระบบประกันภัยสินค้าเกษตร หรือเครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางวินัยการเงินการคลังของภาครัฐในระยะยาว ส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา และศึกษารูปแบบระบบแบ่งปันผลกําไรสินค้าเกษตรที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกร แก้ไขปัญหาข้าวครบวงจร ส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางการเกษตรในอุตสาหกรรมพลังงาน สร้างนวัตกรรมและเครื่องมือทางการเกษตรในราคาที่เข้าถึงได้เพื่อลดต้นทุนการผลิต ควบคุมมาตรฐานการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมี ในการเกษตรเพื่อนําไปสู่การลด ละ เลิกการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมี โดยจัดหาสิ่งทดแทนที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร ต่อยอดภูมิปัญญาและความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน ในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมทั้งเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของประชาชน โดยกําหนดกลไกการดําเนินงานที่รัดกุม เพื่อมิให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด   
                   ๕. การยกระดับศักยภาพของแรงงาน โดยยกระดับรายได้ค่าแรงแรกเข้าและกลไกการปรับอัตราค่าจ้างที่สอดคล้องกับสมรรถนะแรงงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อนําไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ควบคู่ไปกับการกํากับดูแลราคาสินค้าไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชน และสามารถจูงใจให้แรงงานพัฒนาตนเองเพื่อปรับเปลี่ยนทักษะ และเปลี่ยนสายอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน อุตสาหกรรมเป้าหมาย และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 
                   ๖. การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต โดยต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายและวางรากฐานการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองอัจฉริยะ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย รวมทั้งวางรากฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 5G ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมและชุมชน ในการเข้าถึงตลาดในประเทศและตลาดโลก ผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ในการให้บริการสาธารณสุขและการศึกษาทางไกล การสร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะทั้งในส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการยุคใหม่ พร้อมทั้งส่งเสริม การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อนประเทศด้วยปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต  
                   ๗. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ ๒๑ โดยสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ ในระบบดิจิทัล ปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และภาษาต่างประเทศ ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพในทุกตําบล ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ของสถาบันการศึกษาสู่สาธารณะ เชื่อมโยงระบบการศึกษากับภาคปฏิบัติจริงในภาคธุรกิจ  สร้างนักวิจัยใหม่และนวัตกรเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ  สร้างความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อออนไลน์ และโครงข่ายสังคมออนไลน์ของคนไทย เพื่อป้องกันและลดผลกระทบในเชิงสังคม ความปลอดภัย อาชญากรรมทางไซเบอร์ และสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง การสร้างความสมานฉันท์  และความสามัคคีในสังคม รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่จําเป็นในการดําเนินชีวิต   
                   ๘. การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายราชการประจํา โดยเร่งรัดการดําเนินมาตรการทางการเมืองควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมายเมื่อพบผู้กระทําผิดอย่างเคร่งครัด นําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเฝ้าระวังการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างจริงจังและเข้มงวด และเร่งรัดดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เมื่อพบผู้กระทําผิดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ภาครัฐปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งให้ภาคสังคม ภาคเอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวัง การทุจริตประพฤติมิชอบ  
                   ๙. การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ความสําคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศ ทุกภูมิภาค ปราบปรามแหล่งผลิตและเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด ทั้งบริเวณชายแดนและพื้นที่ภายใน ฟื้นฟูดูแลรักษาผู้เสพผ่านกระบวนการทางสาธารณสุข สร้างโอกาส สร้างอาชีพ รายได้ และการยอมรับของสังคมสําหรับผู้ที่ผ่านการฟื้นฟู และเร่งสร้างความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน้อมนํายุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักในการดําเนินการ ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เร่งรัดการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ รวมทั้งจัดสวัสดิการที่เหมาะสมสําหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ โดยให้เป็นการแก้ไขปัญหาภายในของประเทศด้วยกฎหมายไทยและหลักการสากล  
                   ๑๐. การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน โดยมุ่งสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ พัฒนาระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ปรับปรุงระบบการอนุมัติและอนุญาตของทางราชการที่สําคัญให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งบุคคลและนิติบุคคล เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินความจําเป็น ลดข้อจํากัดด้านกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทําธุรกิจและการดํารงชีวิตของประชาชน แก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ผ่านการทดลองใช้มาตรการด้านกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และขับเคลื่อนการให้บริการในทิศทางที่ตรงกับความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ  
                   ๑๑. การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย การให้ความช่วยเหลือระหว่างเกิดภัย และการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยจัดระบบติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและกําหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุดและทันท่วงที รวมทั้งพัฒนาการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  
                   ๑๒. การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
 
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ 
                   การดําเนินงานตามประเด็นนโยบายเร่งด่วนดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจะมุ่งมั่นดําเนินงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว มีความถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยพัฒนาจากพื้นฐานที่ได้ดําเนินการอย่างต่อเนื่อง และให้ความสําคัญกับกรอบวินัยด้านการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสําหรับประชาชน สามารถนํารายได้บางส่วนจากภาษีที่จัดเก็บได้ในแต่ละปีมาใช้ในการสนับสนุนการดําเนินนโยบายดังกล่าว ส่วนประเด็นนโยบายเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การขับเคลื่อนการส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก รัฐบาลจะพิจารณากําหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการทํางานหรือลงทุนร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวร่วมกัน และพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ที่จะช่วยลดภาระด้านงบประมาณมาใช้ในการลงทุน เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย  เงินสะสมของกองทุนต่าง ๆ และการแปลงสิทธิและทรัพย์สินให้เป็นทุนได้ในอนาคต เป็นต้น 
                   อย่างไรก็ดี การดําเนินนโยบายต่าง ๆ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนโยบายด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การสาธารณสุข และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว จําเป็นต้องใช้งบประมาณในการดําเนินนโยบายดังกล่าว ซึ่งในช่วงระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐบาล คาดว่างบประมาณประจําปีจะอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ ๓.๓ ล้านล้านบาทต่อปี ในขณะที่รายได้จากภาษีของประเทศมีอยู่อย่างจํากัด ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งรัดพัฒนาระบบจัดเก็บภาษีของรัฐให้มีความครอบคลุมมากขึ้น มุ่งเน้นการขยายฐานภาษีและปรับโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม รวมทั้งเร่งส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะกลับมาสู่ระบบภาษีที่จะนํามาใช้ในการดําเนินนโยบาย เพื่อพัฒนาประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเชิงสังคมตามนโยบายรัฐบาล   
                   นอกจากนี้ แผนงานหรือโครงการใดที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว รัฐบาลจะพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินนอกงบประมาณ ทั้งในส่วนของเงินกู้และการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ รวมทั้งพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ อาทิ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ในโครงการที่มีความคุ้มค่าทางการเงิน เพื่อลดภาระการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินและการกู้เงิน ซึ่งการใช้เครื่องมือทางการเงินดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดภาระด้านการคลังของประเทศแล้ว  จะช่วยให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อีกด้วย ทั้งนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อดําเนินการตามนโยบายนั้น รัฐบาลจะให้ความสําคัญกับกรอบวินัย การเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศ มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ  
                   นโยบายที่กระผมได้แถลงมาทั้งหมดนี้ จะเป็นกรอบการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงระยะเวลาของรัฐบาล โดยยึดกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลจะดําเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตามความเร่งด่วนและทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเมื่อการแถลงนโยบายของรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลจะซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลจะดําเนินการจัดทําร่างกฎหมายที่จําเป็นต้องตราขึ้น เพื่อสนับสนุนการดําเนินการตามนโยบาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชน และขับเคลื่อนการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นฐานสําคัญ ในการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระยะ ๒๐ ปี ข้างหน้าตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
 
 ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
                   รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภาและประชาชนไทยทุกภาคส่วนว่า จะบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และยึดประโยชน์ส่วนรวม ของประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง  มั่งคั่ง และยั่งยืน 
 
ขอบคุณครับ 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.