นักวิชาการเปิดเวทีเสวนา”พระธาตุพนมสู่มรดกโลก” ในหัวข้อ “โอกาสและความก้าวหน้าเป้าหมายที่ยั่งยืน”
20 พ.ย. 2563, 09:19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 เวลา 18.00 น. ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้จัดให้มีเวทีเสวนาเพื่อการรับรู้ของประชาชน โครงการพระธาตุพนมสู่มรดกโลก โดยนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม วิสัยทัศน์เรื่อง”การขับเคลื่อนโครงการพระธาตุพนมสู่มรดกโลก ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนจากจังหวัดนครพนม” พร้อมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ฯลฯ ประกอบด้วย นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ผศ.ดร.ธราวุฒิ บุญเหลือ และ ดร.ศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา ล้อมวงเสวนาในหัวข้อ”พระธาตุพนมสู่มรดกโลก:โอกาสและความท้าทาย เป้าหมายที่ยั่งยืน โดยมีพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม/เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ ดร.ไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนมเขต 3 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนมเขต 4 พรรคเพื่อไทย ร่วมฟังการเสวนาในครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มกระทั่งเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 22.00 น.
โดยทั้งนี้สืบเนื่องจากชาวจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันผลักดันพระธาตุพนม ขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม หลังมีชื่อในบัญชีเบื้องต้น หรือที่เรียกว่า Tentative List เพื่อนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก และถูกขึ้นทะเบียนของยูเนสโกเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 และต่อมาในวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 41 ณ เมืองครารูฟ สาธารณรัฐโปแลนด์ มีมติเห็นชอบให้บรรจุพระธาตุพนมในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นตามลำดับ
กล่าวคือในช่วงปี 2559 จังหวัดนครพนมพิจารณาเห็นว่าองค์พระธาตุพนม เป็นโบราณสถานเก่าแก่ เป็นที่เคารพของประชาชนในพื้นที่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร มีความโดดเด่นที่สามารถพิจารณานำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ โดยในเบื้องต้นมีความเห็นว่ามีคุณสมบัติที่น่าจะเข้าเกณฑ์การพิจารณาคุณค่าอันเป็นสากล ภายใต้เกณฑ์การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 3 ประการคือ
ข้อที่ 1 มีอริยภาพในการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรม ที่มีลักษณะเป็นศิลปะไทยอีสานลาวล้านช้าง และได้รับการบูรณะในแนวทางที่รักษาอัตลักษณ์อันนี้ไว้ มาเป็นระยะๆจนถึงปี 2518 เมื่อพระธาตุพนมได้ถูกลมมรสุมพังทลาย กรมศิลปากรได้ระดมสรรพกำลัง และความเชี่ยวชาญบูรณะขึ้นมาใหม่ให้สวยงามตามแบบเดิม เกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางความเชื่อและวัฒนธรรมของประชาชน ในเรื่องการเคารพบูชาพระสถูปของบุคคลที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่แพร่มาจากประเทศอินเดียและฮินดูจนถึงสมัยพุทธกาล และเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธ และได้มาสู่ภาคตะวันออกเฉียงใต้หรือที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ เกณฑ์ข้อที่ 6 มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดจนถึงปัจจุบัน เช่นการเฉลิมฉลองและบูชา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ซึ่งประชาชนและชาวลาว มาร่วมงานเป็นพันปีแล้ว นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับประเพณีความเชื่อพระอุปคุต พญานาค ที่จะมาช่วยปกปักษ์รักษาพระธาตุในลุ่มแม่น้ำโขง
ดังนั้นจังหวัดนครพนม วัดพระธาตุพนมฯ และภาคประชาชน จึงได้เสนอแนวทางขอยกพระธาตุพนมสู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมโดย ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอพระพระธาตุพนมเข้าสู่บัญชีเบื้องต้น หรือที่เรียกว่า Tentative List เพื่อนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก จึงทำให้บัญชีของพระธาตุพนมถูกขึ้นทะเบียนของยูเนสโกเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา
จากนั้นทางจังหวัดนครพนมได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “ว่าด้วยการจัดการมรดกโลกทางศาสนาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” ขึ้นในวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2560 ที่กรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยนครพนม และวัดพระธาตุพนมฯโดยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการมรดกโลกที่เกี่ยวกับศาสนาจาก 15 ประเทศ ระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงศึกษาสถานที่สำคัญภายในวัดพระธาตุพนมฯ เพื่อนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญมาประกอบจัดทำเอกสารให้ครบถ้วนและรอบด้าน โดยมีผู้แทนจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจากกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กลุ่มงานวิชาการการอนุรักษ์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้แทนจังหวัดนครพนม และนักวิชาการมหาวิทยาลัยนครพนม
ความคืบหน้าขณะนี้ คือ กระบวนการต่างๆยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์ (The Nomination File) เพื่อรับประเมินจากคณะกรรมการมรดกโลก(ยูเนสโก) ในการเสนอชื่อเพื่อขอขึ้นบัญชี World Heritage List Nominations Process ตามขั้นตอนที่ยูเนสโกกำหนด ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี ถึงจะทราบผล เนื่องจากจะต้องรวบรวมข้อมูลต่างๆ เอกสารวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี การบริหารจัดการความเสี่ยง และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ภายหลังชื่อบัญชีถูกประกาศเป็นแหล่งมรดกโลก ซึ่งประชาชนที่ร่วมฟังการเสวนาต่างสนับสนุนให้เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจากกรุงเก่าสุโขทัยและอยุธยา
สำหรับประโยชน์และความสำคัญของการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก นั้น จากการศึกษาในรายงานวิจัยเรื่อ The Costs and Benefits of World Heritage Site Status in the UK 19 เสนอว่า การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกนั้น มีประโยชน์หลายมิติ ได้แก่ การสร้างพันธมิตรในการดำเนินงาน การเพิ่มจำนวนของทุนสมทบ การอนุรักษ์ การฟื้นฟูพื้นที่หรือเมืองอันเป็นที่ตั้งของแหล่ง การท่องเที่ยว การสร้างความภาคภูมิใจของพลเมือง การสร้างประโยชน์ด้านต้นทุนทางสังคม