"ส.ค.ท." คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จ. ศรีสะเกษ ย้ำชัด! ต้องพัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณภาพสูงสุดเต็มศักยภาพ
25 ก.ค. 2562, 16:15
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ๒๕๖๒ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนพร้อมด้วยสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) และเครือข่ายองค์กรครู ๔ ภูมิภาค ประกอบด้วย สหพันธ์ครูภาคเหนือ ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชมรมครูภาคกลาง สมาพันธ์ครูภาคใต้ พร้อมผู้แทนองค์กรครู และภาคีเครือข่าย ได้เดินทางไปที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเข้าพบนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ เพื่อไปรับฟังนโยบายพร้อมทั้งได้เสนอปัญหา และแนวทางแก้ไข
ซึ่งในส่วน สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ได้นำเสนอชุดความคิด(ร่าง)พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.........ฉบับ ผู้ประกอบวิชาชีพครูโดยครู.......เพื่อครู......เพื่อเด็ก.....เพื่อสังคมเหตุผลเจตนารมณ์ เติมเต็มและแก้ไข พัฒนาการศึกษาไทย ซึ่งชุดความคิดร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... ขณะนี้ได้จัดทำรับฟังความคิดเห็นและคุรุพิจารย์ เพื่อหาบทสรุปนำเสนอท่าน รมต.ศธ.ต่อไปแล้ว
นายวิสัย กล่าวว่า ในการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้ ตนและคณะได้เสนอข้อเรียกร้องและความต้องการขององค์กรครู ผู้ประกอบวิชาชีพครู คือ ครูต้องเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุม ครูต้องเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีวิทยฐานะ มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กระทรวงศึกษาธิการต้องกระจายอำนาจให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน กระทรวงศึกษาธิการต้องเป็นต้นแบบประชาธิปไตย และให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทุกฉบับ และยังได้ยื่นหนังสือให้คืนการบริหารคุรุสภา และสำนักงานคณะกรรมการ สก.สค. ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ ๒๕๔๖ เพื่อคืนขวัญกำลังใจให้กับครู ที่จะได้มีพลังในการอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบไป และจะส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาให้ถูกทาง แก้ปัญหาได้ถูกจุด
นายวิสัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของเงินอุดหนุนอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) ตนได้เสนอขอให้คืนเงินอุดหนุนอาหารกลางวันและเงินอาหารเสริมนมให้สถานศึกษาบริหารจัดการตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งได้โอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อปีงบประมาณ ๒๕๔๔ ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้าและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงกับจำนวนนักเรียนต่อวัน ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล เพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นรายหัวละ ๓๐ บาท และให้ขยายเงินอุดหนุนอาหารกลางวันและอาหารเสริมนม ให้ครอบคลุมการศึกษาภาคบังคับมัธยมต้นและมอบให้ผู้ปกครองดังเช่นการจัดเครื่องแบบนักเรียน
นายวิสัย ยังกล่าวด้วยว่า ด้านการบริหารจัดโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณภาพสูงสุดเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่นั้นเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกัน เพราะการที่จะปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายแก้ไขอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่หากยังปล่อยให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นไปตามยถากรรมต่อไป โอกาสที่จะเห็นผู้คนระดับรากหญ้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นประเทศชาติก้าวเดินผ่านพ้นประเทศกำลัง (ด้อย) พัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วก็คงยังยากไกลเกินฝันที่จะเดินไปได้ถึงอยู่อีกแน่ ดังนั้น ต้องไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ควรทุ่มงบประมาณ ทุ่มบุคลากรเพื่อช่วยสร้างโรงเรียนขนาดเล็กให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
“ส่วนการเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เป็น “ครูใหญ่” ไม่มีเหตุมีผลอะไรที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้นได้เลย นอกจากทำลายเกียรติ ศักดิ์ศรีและทำลายขวัญกำลังใจของผู้บริหารสถานศึกษาทั้งประเทศเท่านั้น ถ้าการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งมันเป็นเหตุผลให้คุณภาพของงานสูงขึ้นเขาคงเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง “ผู้อำนวยการโรงพยาบาล..” เป็น “หมอใหญ่..” ทุกโรงพยาบาลไปนานแล้ว ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับว่า จะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด แต่ต้องให้อดทนรับการเปลี่ยนแปลงบ้าง ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการศึกษาของชาติและพัฒนาการศึกษาของชาติให้มีการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน”