ภัยเงียบคร่าชีวิต โรคเนื้อเน่า-แบคทีเรียกินเนื้อคน สิ้นใจแล้ว 5 ชีวิต แนะวิธีป้องกันด่วน!
25 ก.ค. 2562, 17:49
วันที่ 25 ก.ค. 62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายแพทย์นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน พร้อมด้วย นายอำนวย ทิพศรีราช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดน่าน ร่วมกันสอบสวนการระบาดของโรคผังผืดอักเสบมีเนื้อตาย หรือ โรคเนื้อเน่า ที่เกิดการระบาดในพื้นที่จังหวัดน่าน ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฏาคม 2562 ซึ่งขณะนี้ที่โรงพยาบาลน่าน มีผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา ยอดรวม 51 ราย และเสียชีวิตแล้ว 5 ราย และยังมีอาการหนักรักษาตัวในห้องฉุกเฉินไอซียู 2 ราย โดยพบผู้ป่วยกระจายในทุกอำเภอ พบมากที่สุดคือพื้นที่อำเภอเมืองน่าน อำเภอเวียงสา อำเภอภูเพียง และ อำเภอท่าวังผา ตามลำดับ
ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและชาวนา ที่ต้องทำงานในแปลงนาข้าว นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วย 3 ราย ที่ได้รับเชื้อจากการลงในงมหอย หาปลาในแม่น้ำน่านด้วย
นายแพทย์นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคผังผืดอักเสบมีเนื้อตาย หรือ โรคเนื้อเน่า ในห้วงเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 พบผู้ป่วย 227 ราย เฉลี่ยปีละประมาณ 45 ราย เพศชาย 146 ราย และเพศหญิง 83 ราย อายุเฉลี่ยประมาณ 59-60 ปี และมักพบผุ้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฏาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลทำนา ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์ในปีนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วงต้นฤดูกาลทำนา แต่ค่าเฉลี่ยกลับพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากกว่าทุกปี โดยกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ร่างกายอ่อนเพลีย ดื่มสุรา มีประวัติการใช้ยาสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน รวมถึงชาวนา เกษตรกร หรือประชาชนที่ต้องทำงานสัมผัสกับดินโคลนเลนโดยตรงเป็นเวลานาน เมื่อเกิดบาดแผลทางผิวหนัง ทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งกลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้เกิดโรคเนื้อเน่า มีหลายชนิด เช่น สเตรปโตค๊อคคัส กลุ่มเอ ,คลอสตรีเดี่ยม , เคล็บเซลลา, สแตฟิโสค๊อกคัส ออเรียส ,อีโคไล และ แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา เป็นต้น
ในส่วนของเกษตรกรชาวนา ใช้วิธีป้องกันคือสวมรองเท้าบูทก่อนลงทำนาในนาข้าว เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล และไม่ให้ติดเชื้อต่างๆที่จะเข้ามายังแผลอีกด้วย หลังจากขึ้นจากการทำนาแล้ว ก็จะล้างโคลนออกให้สะอาด และ กลับถึงบ้านก็จะอาบน้ำทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และในส่วนของการป้องกันนั้นคือ จะสวมรองเท้าบูทตลอดเวลา ในระหว่าทำนา เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเศษไม้ หรือเปลือกหอยบาดเท้า
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่และไม่เป็นโรคติดต่อ แต่เป็นโรคเฉพาะบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากมีบาดแผลทางผิวหนังและได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ขณะที่ประเด็นเรื่องสารเคมีในพื้นที่การเกษตรเป็นสาเหตุของโรคเนื้อเน่า ยังไม่มีรายงานผลการวิจัย หรือรายงานทางวิชาการอ้างอิงได้ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสาเหตุหลักของโรคดังกล่าว แต่สารเคมีเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง เมื่อเกาจึงเกิดเป็นบาดแผลรอยถลอก ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้แน่นอน โดยขณะนี้เร่งประชุมให้ ทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ทุกพื้นที่ เตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการล้างบาดแผล และ ให้ความรู้ ความเข้าใจ และเตือนเกษตรกร รวมถึงประชาชน ได้สังเกตอาการของโรค หากมีบาดแผล และมีอาการปวด บวมแดง อักเสบ ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นไข้สูง ขอให้รีบไปยัง รพ.สต.ใกล้บ้าน เพื่อล้างและทำความสะอาดแผล และเข้าสู่ระบบการรักษาตั้งแต่ต้น ในส่วนของเกษตรกรและชาวนา ที่ต้องลงแปลงนาและสัมผัสกับดินโคลนโดยตรง ขอให้ใส่ชุดป้องกัน เช่นรองเท้าบูท ถุงมือยาง และหากมีบาดแผลทางผิวหนังให้รีบล้างน้ำสะอาดและทำแผลทันที