เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สถ.ย้ำท้องถิ่นทุกแห่ง ต้องป้องกัน-แก้ไขภัยแล้ง ช่วยเหลือเกษตรกร-ปชช.


25 ก.ค. 2562, 19:19



สถ.ย้ำท้องถิ่นทุกแห่ง ต้องป้องกัน-แก้ไขภัยแล้ง ช่วยเหลือเกษตรกร-ปชช.




วันนี้ ( 25 ก.ค.62 ) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง แนวทางการปฏิบัติสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย โดย อปท.ทุกแห่งจะต้องดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ตามข้อสั่งการของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งให้ทันท่วงที

ขณะนี้เกิดปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ในเขตพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จึงขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างเต็มที่ ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย หากติดขัดปัญหาประการใด ก็สามารถขอความช่วยเหลือได้ทั้งจาก อปท.ใกล้เคียง จังหวัด และกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เชื่อได้ว่าความร่วมแรงร่วมใจของ ท้องถิ่นทุกแห่ง จะทำให้ปัญหาภัยแล้งได้รับการเยียวยาโดยเร็วที่สุด



การเตรียมการก่อนเกิดภัยนั้น อปท.จะต้องสำรวจและจัดทำบัญชีข้อมูลทั่วไป ข้อมูลสภาพพื้นที่เสี่ยงภัย ข้อมูลแหล่งภาชนะเก็บกักน้ำและข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำ เช่น รถยนต์บรรทุกน้ำ ของ อปท. ที่มีกว่า 8,000 คันทั่วประเทศ ซึ่งตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. พ.ศ. 2550 หาก อปท. ใด เกิดสาธารณภัย ก็สามารถร้องขอรับการช่วยเหลือจาก อปท. อื่นได้ เช่น ขอรับการสนับสนุนรถยนต์น้ำ รถยนต์ดับเพลิง เครื่องมือดับเพลิง เครื่องสูบน้ำ ทั้งของ อปท. ส่วนราชการ และเอกชนในพื้นที่ ไปจนถึงการติดตามสภาพอากาศ น้ำฝน ระดับน้ำในแม่น้ำ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือระดับน้ำทะเลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่หากมีแนวโน้มว่าจะประสบภัยแล้ง ก็ให้จัดตั้งศูนย์เตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพื่อเตรียมความพร้อม รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ในส่วนของการดำเนินการขณะเกิดภัย ก็ให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินงานร่วมกับ อปท. ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตนเอง และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน ก็ให้ อปท.นำเงินสำรองจ่ายใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอก็อาจจะโอนเงินงบประมาณเหลือจ่าย หรือเงินงบประมาณในแผนงาน/โครงการอื่นที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย หรือมีความจำเป็นน้อยกว่าไปตั้งจ่ายเพิ่มเติมได้ และหากเงินงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังไม่เพียงพออีก ทางผู้บริหารท้องถิ่นก็สามารถอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสม ไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ด้วย และ อปท. ต้องจัดหาน้ำสะอาด เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการอุปโภคบริโภค ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์หรือครุภัณฑ์ สำหรับผลิตน้ำสะอาด เพื่อบริการประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และหากหน่วยงานราชการ องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคประชาชน ที่นำน้ำสะอาดหรือเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายแก่ประชาชน ก็ขอให้ อปท. อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ในการดำเนินงานด้วย


สำหรับการดำเนินการหลังเกิดภัยนั้น ให้ อปท. เร่งสำรวจความเสียหายจากภัยแล้ง ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ/จังหวัด ตามลำดับ โดยต้องกำหนดพื้นที่การช่วยเหลือตามจำเป็นเร่งด่วนอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค และให้มีการเฝ้าระวังเรื่องสุขลักษณะและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบาดและโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นได้ ไปจนถึงเร่งฟื้นฟู และส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ประสบภัย โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากการประกอบอาชีพ และเป็นการป้องกันการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองใหญ่ และที่สำคัญการดำเนินการทั้งหมดนี้ ต้องไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานต่างๆ ให้ความช่วยเหลือด้วย

ทั้งนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยังได้ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ.2550 โดย 


1.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันหรือใกล้เคียงกันกับ อปท. ที่ประสบสาธารณภัยสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้น 
2. กรณี อปท.ที่ประสบสาธารณภัยต้องการขอความช่วยเหลือจาก อปท.อื่นๆ (ที่มิได้มีพื้นที่ติดต่อกันหรือใกล้เคียงกัน) ให้ร้องขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้อำนวยการจังหวัด) หรือนายอำเภอ (ผู้อำนวยการอำเภอ) เพื่อสั่งการให้ อปท.อื่นในจังหวัดให้ดำเนินการช่วยเหลือ อปท.ที่ประสบสาธารณภัยนั้น และ 
3. กรณีที่พื้นที่เกิดภัยมีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมหลายจังหวัด เมื่อ อปท.ที่ประสบสาธารณภัยร้องขอความช่วยเหลือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งไปยังผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อสั่งการให้ อปท.ที่อยู่นอกเขตพื้นที่จังหวัด หรือกรุงเทพมหานครดำเนินการช่วยเหลือ อปท.ที่ประสบสาธารณภัยต่อไป






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.