มวล.ร่วมกับบจก. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง ลงนามสัญญาจ้างตกแต่งภายในอาคารโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์
25 พ.ย. 2563, 08:58
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 นายไกรศร วิศิษฐ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาสตราจารย์ เป็นประธานสักขีพยาน ในการลงนามในสัญญาจ้างตกแต่งภายในอาคารโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (อาคาร A B C และ D) จำนวน 4 อาคาร มูลค่า 895 ล้านบาท โดยมี ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายอำนวย กาญจโนภาศ รองประธานกรรมบริหาร บริษัทเพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาจ้างตกแต่งภายในอาคารโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (อาคาร A B C และ D) จำนวน 4 อาคาร มูลค่า 895 ล้านบาท โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาครัฐภาคเอกชน คณะผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้แทนจากบริษัทเพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โถงกลาง ชั้น 2 อาคาร A โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ทำการประกวดราคาด้วยวิธีแบบอิเล็กทรอนิกส์(E-Bidding) ตกแต่งภายในอาคารโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ จำนวน 950 ล้านบาทถ้วน โดยมีบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติและเสนอราคาต่ำสุดชนะการประกวดราคา คือ บริษัทเพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 895 ล้านบาทถ้วน หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เพื่อเสนอต่อ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมต.อว. เพื่อขออนุมัติขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ซึ่งได้รับอนุมัติจากรมต.อว.แล้ว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ ม.วลัยลักษณ์สามารถลงนามสัญญาจ้างอาคารโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ได้ทันที
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่อไปอีกว่า การลงนามในสัญญาจ้างตกแต่งภายในอาคารโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (อาคาร A B C และ D) จำนวน 4 อาคาร มูลค่า 895 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 555 วันหลังจากลงนามสัญญา โดยทางมหาวิทยาลัยมีแผนจะเปิดให้บริการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ จำนวน 120 เตียง ในช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 จากนั้นปลายปี 2565 จะเปิดให้บริการได้จำนวน 419 เตียง และในช่วงดังกล่าวมูลนิธิศรีธรรมราชาจะมีการสร้างตึกสงฆ์อาพาธอีกจำนวน 94 เตียงด้วย ดังนั้นในช่วงปี 2565-2566 โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯจะสามารถเปิดให้บริการได้กว่า 513 เตียง
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ยังได้รับอนุมัติงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ จำนวน 672 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทางรายการแล้ว จึงเป็นหลักประกันได้ว่าโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ จะมีเครื่องมือที่ทันสมัยสามารถให้บริการรักษาพยาบาลในระดับตติยภูมิได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2564-2566 ยังได้งบประมาณสำหรับการจัดหาบุคลากร อีก 1,100 ล้าน ครอบคลุมทั้งอาจารย์แพทย์ พยาบาล เภสัชกรรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆครบถ้วนอีกด้วย
ด้านนายไกรศร วิศิษฐ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การสร้างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนมีความใกล้เคียงความจริงมากขึ้น ซึ่งประมาณเดือนธันวาคม 2564 ก็จะเปิดให้บริการได้ แม้ว่าจะรับเฉพาะผู้ป่วยนอก แต่จะมีเตียงที่รองรับผู้ป่วยได้ 120 เตียง คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี การเกิดโรงพยาบาลแห่งนี้ หรือเรียกว่า เป็นตติยภูมิ ซึ่งระบบปฐมภูมิเรามีโรงพยาบาลชุมชนหลายโรงที่อยู่ประจำอำเภอ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนั้นที่จะดูแลผู้ป่วยในระยะแรก ระยะที่สอง คือ ทุติยภูมิ จะดูแล รีบบรรเทารักรักษาให้เร่งด่วนขึ้น จากการเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิเราต้องมีความพร้อมให้มากขึ้น และในวันนี้เราต้องทำใน 2 เรื่อง คือ 1.ในเรื่องของปัญหาของตติยภูมิเดิมที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข พร้อมที่จะรองรับดูแลผู้ป่วยให้ได้อย่างดีที่สุด และจะต้องเติบโตไปพร้อมๆ กับการก่อสร้าง การวางแผนในการรับบริการ และ 2. หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เราได้ปรับเปลี่ยนเป็น New Normal ในหลายเรื่อง และที่สำคัญเราจะก้าวไปสู่ผู้สูงอายุ การจะเป็นตติยภูมิที่จะดูแลหลังโควิด-19 ต้องจัดระบบให้สอดคล้องกัน สำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากดีกว่าหลายๆ แห่งในประเทศไทย ที่มีความแออัด ในขณะที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความเติบโตที่มีพื้นที่พร้อมเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย ฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่เราจะบริหารจัดการระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมินั้นจะได้สอดรับกันไป สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพ และเป็นแหล่งของการวิจัยวิชาการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตด้วย