จนท. เร่งขุดย้ายไข่เต่ามะเฟืองรังที่ 6 ไว้ที่ปลอดภัย
27 พ.ย. 2563, 15:09
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 63 นายประจวบ โมฆรัตน์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล นายหิรัญ กังแฮ หัวหน้างานสัตว์ทะเลหายาก นายจักรพันธ์ ม่วงยิ้ม ผอ.ส่วนส่งเสริมและประสานงานเครือข่ายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสุริยะ สอนเสริม ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 10 (ตะกั่วป่า พังงา) อาทิตย์ เพ็ชร์กุล ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงอำเภอตะกั่วป่า นายกิตติพงษ์ ชุมมิ่ง ปลัดอำเภอตะกั่วป่า นายจำรัส หลีเจี้ย กำนันตำบลคึกคัก ได้เดินทางตรวจสอบร่องรอยเต่าขนาดใหญ่ขึ้นวางไข่หลังจากได้รับแจ้งว่าชาวประมงพื้นบ้านที่กำลังออกหากุ้งเคย บริเวณหาดคึกคัก หมู่ 6 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ว่าได้พบเห็นร่องรอยขนาดใหญ่คล้ายการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่า จึงประสานไปยังศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง เพื่อทำการตรวจสอบ ค้นหา และอนุรักษ์ไข่เต่ามะเฟือง
โดยล่าสุดจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่าไข่เต่ามะเฟืองรังที่ 6 เป็นจุดที่อับแสงแดด และมีรากไม้จำนวนมาก จึงได้ขุดย้ายไปยังที่ปลอดภัย ซึ่งห่างจากจุดเดิมประมาณ 25-30 เมตร เป็นจุดที่โล่งสามารถมองเห็นสิ่งคุกคามได้ตลอดเวลาไม่มีรากต้นไม้รบกวน อย่างไรก็ตามจากการขุดและย้ายหลุมฟัก พบว่า มีไข่ดี จำนวน 114 ฟอง ไข่ลม จำนวน 16 ฟอง รวมทั้งสิ้น จำนวน 130 ฟอง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้นำตาข่ายมากั้นเป็นแนวและฝั่งเครื่องวัดอุณหภูมิพร้อมให้เจ้าหน้าที่ทำการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนในเรื่องระยะเวลาในการฟักไข่นั้นจะใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน หลังจากนี้ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองจังหวัดพังงา จะได้เฝ้าดูแลการฟักไข่เต่ามะเฟืองให้เป็นไปตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีอัตราการฟักสูงและสามารถปล่อยลูกเต่าลงสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัยต่อไป
ด้านนายจักรพันธ์ ม่วงยิ้ม ผอ. ส่วนส่งเสริมและประสานงานเครือข่าย สำนักบริหารทรัพยากรทางทะเลและชาชฝั่งที่6 (สทช.6) กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบ พายหน้าจากซ้ายถึงขวา กว้างประมาณ 192 เซนติเมตร ความกว้างหน้าอก 100 เซนติเมตร คาดเป็นแม่เต่ามะเฟือง พบร่องรอยที่คาดว่าน่าจะเป็นหลุมไข่ของแม่เต่า บริเวณใกล้กับผักบุ้งทะเล และใกล้กับน้ำทะเลท่วมถึง โดยทั้ง2จุด ไม่เอื้อต่อการเพราะฟัก และพบว่าแม่เต่ารังนี้มีลักษณะการขึ้นมาวางไข่ที่แปลกไปจากตัวอื่น ขึ้นคลานขึ้นมาวางไข่ และ ลงทะเล ในทางเดียวกัน ซึ่งผิดแปลกไปจากแม่เต่าตัวอื่น และมีไข่ลมบริเวณผิวทรายใกล้จุดน้ำทะเลท่วมถึง เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นที่จะต้องถ่ายภาพมุมสูงเพื่อเก็บพฤติกรรมของแม่เต่า ก่อนขุดย้ายไข่เต่าเพื่อทำการเพาะฟักต่อไป