อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดโครงการ “ บวร ” กลไกสู่ความสมานฉันท์ภายใต้พหุวัฒนธรรมชุมชนอยุธยา
27 พ.ย. 2563, 19:43
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดโครงการ “ บวร ” กลไกสู่ความสมานฉันท์ภายใต้พหุวัฒนธรรมชุมชน พร้อมเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562
วันนี้ ( 27 พฤศจิกายน 2563 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ วัดท่าการ้อง ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางสรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพิพัฒนศาสนกิจวิธาน เจ้าอาวาสวัดท่าการ้อง รองเจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา นางสาว มยุรี จำจรัส ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประดิษฐ์ รัตนโกมล ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประดับ โพธิกาญจนวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดฯ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมทำพิธีเปิดโครงการ “ บวร ” กลไกสู่ความสมานฉันท์ภายใต้พหุวัฒนธรรมชุมชน และเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชน เครือข่ายภาครัฐ ภาคสังคม และภาคเอกชน ให้เห็นถึงประโยชน์ของงานด้านกระบวนการยุติธรรม การส่งเสริมคุณธรรม สันติวิธี และสิทธิมนุษยชน เสริมสร้างแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ในสังคมที่หลากหลายเป็นพหุวัฒนธรรมโดยความร่วมมือที่เข้มแข็งของบวร ซึ่งผู้แทนศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 157 ศูนย์ เครือข่าย ผู้ใหญ่บ้าน 11 หมู่ เครือข่าย อบต. เครือข่ายมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมระงับข้อพิพาท กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกลุ่มผู้ผ่านการอบรมโครงการวิศวกรสันติภาพท้องถิ่น เข้าร่วมจำนวน 500 คน
ภายในงานมีพิธีเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่วัดท่าการ้อง การจัดการเสวนานโยบายและทิศทางการขับเคลื่อน “ บวร ” กลไกสู่ความสมานฉันท์ภายใต้พหุวัฒนธรรมชุมชน การออกบูธนิทรรศการ เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า การเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนในครั้งนี้ เป็นไป ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันการตอบสนองความต้องการที่แท้จริง และสามารถผลักดันให้ประชาชนในชุมชน เกิดความสมานฉันท์ ภายใต้บริบทชุมชนพหุวัฒนธรรม พร้อมทั้ง ให้ความรู้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความสมานฉันท์ชุมชน ซึ่ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์และอยู่ร่วมกัน อย่างสมานฉันท์ในสังคมที่หลากหลาย เป็นพหุวัฒนธรรม โดยความร่วมมือที่เข้มแข็งของ “ บวร ”