นทท. แห่ชม ! "วัดนันตาราม" วิหารไม้สักทองทั้งหลัง อลังการ หนึ่งเดียวจังหวัดพะเยา
10 ธ.ค. 2563, 12:58
วัดนันตาราม อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ที่มีวิหาร ที่ทำจากไม้สักทั้งหลัง มีรูปแบบ แบบศิลปพม่าอลังการ หนึ่งเดียว จังหวัดพะเยา ยังคงสวยสดงดงาม และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีสถานการณ์โควิด 19 แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชม
นักท่องเที่ยว ต่างเดินทางเข้าท่องเที่ยว บริเวณวัดนันตาราม ในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่มีความสวยงามติดอันดับต้นๆของจังหวัดและกลุ่มภาคเหนือ ซึ่งมีวิหารไม้สักศิลปะผสมผสานพม่า- ไทยล้านนา ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในจังหวัดพะเยา และยังคงหลงเหลือความสวยงามไว้อย่างสมบูรณ์แบบ และมีเอกลักษณ์ ที่สวยงาม นอกจากนั้นภายในวิหารไม้สักยังคงมีการรวบรวมวัตถุโบราณ ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน พระพุทธรูปที่มีรูปแบบของศิลปะพม่า หรือไทยใหญ่ ไว้อย่างมากมาย จึงเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเที่ยวชม สำหรับการสร้างวิหารไม้สัก ในวัดนันตาราม เดิมวัดนี้เรียกว่า วัดจองคา (จอง เป็นคำไทใหญ่หมายถึงวัด) และหลังคาของวิหารมุงด้วยหญ้าคา จึงมีชื่อเรียกวัดจองคาซึ่งเริ่มต้นจากการที่พุทธศาสนิกชนชาวไทใหญ่ที่เข้ามาค้าขายอยู่ในอำเภอเชียงคำเมื่อราว 100 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างในปี พ.ศ 2467 โดยพ่อหม่องโพธิ์ชื่นเป็นผู้บริจาคที่ดิน พ่อเฒ่าอุบลเป็นประธานในการก่อสร้าง ชาวบ้านทั่วไปมักนิยมเรียกวัดนี้ว่า วัดจองเหนือ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอเชียงคำ สำหรับพื้นที่ของวัดจองคา มีเนื้อที่กว่า 8 ไร่ ต่อมาพ่อเฒ่านันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ ได้บริจาคเงินเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดจองคา โดยพ่อเฒ่านันตา (อู๋) ได้เป็นเจ้าภาพสร้างวิหารขึ้น 1 หลังแทนวิหารที่มุงด้วยหญ้าคา แล้วจึงว่าจ้างนายช่างชาวพม่ามาออกแบบและทำการก่อสร้างวิหาร รูปแบบของพระวิหารเป็นวิหารไม้สักทั้งหลัง ศิลปกรรมแบบพม่า หลังคามุงจั่วยกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกันลงมาอย่างสวยงาม มุงหลังคาด้วยแป้นเกร็ด (กระเบื้องไม้) เพดานภายในตกแต่งประดับประดาด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตรพิศดาร มีเสาไม้ลงรักปิดทองทั้งสิ้น 68 ต้น ค่าก่อสร้างในสมัยนั้นประมาณ 45,000 บาทเศษ
พระอธิการสันติ ชยธมโม เจ้าอาวาส วัดนันตาราม กล่าวว่า ในการก่อสร้าง ตั้งแต่เดิมเป็นที่พักของพ่อค้าจากทางพม่าที่เดินทางมาค้าขายในพื้นที่อำเภอเชียงคำ ก็จะมีพระสงฆ์ติดตามมาด้วยจึงได้สร้างสำนักสงฆ์ ต่อมาได้มีการบริจาคที่ดินจากพ่อหม่องโพชิอาริยา มาบริจาคที่ดินเพิ่มจึงได้มีการจัดสร้างวัดม่านหรือจองเหนือขึ้น ต่อมาก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในปีพ.ศ. 2467 พ่อเฒ่าจองนันตา(อู๋) รับเป็นเจ้าภาพสร้างวิหารหลังปัจจุบัน โดยว่าจ้างชาวพม่าจากจังหวัดลำปางมาออกแบบและทำการก่อสร้างเป็นวิหารไม้หลังสูงรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบพม่าตอนล่างหลังคาจั่วยกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกันสวยงาม มุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ฟ้าเพดานประดับประดาด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตรพิสดารไม่ซ้ำกัน นอกจากนั้นทางวัดยังได้มีพระพุทธรูป ที่ถือเป็นพระพุทธรูปที่ทรงคุณค่า โดยมีพระพุทธรูปปฏิมาประธานไม้สักทอง หรือประพุทธเมตตา มีพระเจ้าแสนแซ่เนื้อทองสำริด ปรางปรมาพิชัย มีพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ ซึ่งได้รวบรวมไม้หอมนานาชนิดในเมืองตองกี ประเทศพม่า นำมาปั้นเป็นพระพุทธรูป และยังมีพระพุทธรูปหินขาวหรือหยกขาว ซึ่งมีคุณค่าอยู่ภายในบริเวณวิหารของวัด นอกจากนั้นยังได้จัดให้มีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน ที่ได้รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีตรวบรวมไว้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาให้กับนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าเรียนรู้สำหรับวัดนั้นตารามดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่มีอายุ อายุร่วม 100 กว่าปี และได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญประจำจังหวัดพะเยา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งไทย และชาว ต่างชาติ เข้ามาเที่ยวชมสักการระและถ่ายรูปวิหารไม้สักที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพะเยา