เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.3 ผลักดันกฎหมายควบคุมฝุ่น PM2.5 มุ่งหวังให้ ปชช.มีสุขภาพที่ดี


16 ธ.ค. 2563, 17:33



มท.3 ผลักดันกฎหมายควบคุมฝุ่น PM2.5 มุ่งหวังให้ ปชช.มีสุขภาพที่ดี




วันนี้ (16 ธ.ค. 2563) นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 นับเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนโดยตรง จึงมีนโยบายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการออกข้อกำหนดและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายควบคุมอาคาร ดำเนินการทบทวนปรับปรุง แก้ไข กฎหมายให้ทันต่อสภาพการณ์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 96 ก กฎกระทรวงฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความ ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อง มาตรการป้องกันการฟุ้งกระจายฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคาร โดยมีสาระสำคัญดังนี้



1. ลักษณะงานก่อสร้างที่ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันฝุ่นละออง ได้แก่

1.1 งานก่อสร้างอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ที่มีระยะราบวัดจากแนวอาคารด้านนอกถึงที่สาธารณะหรือที่ดินต่างเจ้าของหรือผู้ครอบครองน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของความสูงของอาคารนั้น

1.2 งานก่อสร้างอาคารซึ่งอยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน


2. มาตรการป้องกันฝุ่นละอองที่ต้องจัดให้มีระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่

2.1 การกั้นล้อมอาคารด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ 

2.2 การปิดหรือคลุมกองวัสดุที่มีการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง 

2.3 การขนย้ายวัสดุที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองด้วยสายพานต้องปิดให้มิดชิด 

2.4 การผสมคอนกรีต การไสไม้ หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดฝุ่นต้องทำในพื้นที่ปิดล้อม หรือมีวิธีการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง PM2.5 การทำความสะอาดล้อรถทุกชนิดก่อนนำออกนอกบริเวณสถานที่ก่อสร้างซึ่งหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) นี้ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร วิศวกรผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงผู้บังคับใช้กฎหมายต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฝุ่นละอองในงานก่อสร้างมีปริมาณลดลง สถานที่ก่อสร้างมีความสะอาด เป็นระเบียบ เป็นไปตามมาตรฐานงานก่อสร้างในระดับสากล และช่วยลดสภาวะมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสุขภาพแข็งแรงมากยิ่งขึ้น






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.