เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.แจงหลังชาวกะเหรี่ยงยื่น 3 ข้อเรียกร้องแก้ปัญหาก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลกแก่งกระจาน


18 ธ.ค. 2563, 14:12



มท.แจงหลังชาวกะเหรี่ยงยื่น 3 ข้อเรียกร้องแก้ปัญหาก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลกแก่งกระจาน




กรณีชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลกผ่านสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกโลก (UNESCO) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาของชุมชน ก่อนเดินหน้ายื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่ามรดกโลก โดยชาวบ้านมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ 1. ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเสร็จสิ้นก่อน 2. ขอกลับไปทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย และ 3. ขอกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่เคย ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย



สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานการชี้แจงข้อเท็จจริงจากจังหวัดเพชรบุรี ดังนี้

1. ในปี 2539 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กองกำลังสุรสีห์ และหน่วยงานความมั่นคง ได้อพยพย้ายมาบริเวณพื้นที่ใจแผ่นดินหรือบางกลอยบน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ปรากฏเชื้อชาติ สัญชาติ ให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณบ้านโป่งลึก โดยจัดที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย จำนวน 57 ครอบครัว 391 คน และตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านบางกลอย ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และบางส่วนอาศัยอยู่กับญาติบริเวณบ้านโป่งลึก หมู่ที่ 2 และในปี 2555 – 2557 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบมีบุคคลเข้าไปบุกรุกแผ้วถางและอาศัยอยู่ในบริเวณใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบน จึงได้มีการสนธิกำลังร่วมกับฝ่ายทหาร ปกครอง ตำรวจ ทำการผลักดันและตรวจยึดพื้นที่ ซึ่งราษฎรส่วนหนึ่งมาจากบ้านบางกลอย ที่กลับขึ้นไปทำกินกับราษฎร ส่วนหนึ่งที่มาจากประเทศเมียนมาร์

2. ปัจจุบันไม่มีการบุกรุกยึดถือครอบครองหรือตั้งที่อยู่อาศัยทำการเกษตรในบริเวณพื้นที่ใจแผ่นดินหรือบางกลอยบน พื้นที่มีสภาพเป็นป่าฟื้นตัว ราษฎรบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอยได้รับการสำรวจที่ดินตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 64 ในส่วนของการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับการสำรวจแล้ว ให้กรรมการพิจาณาผลการสำรวจการครอบครองที่ดิน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและแก้ไขปัญหา โดยราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นประชากรครอบครัวขยาย ไม่สามารถขยายพื้นที่ทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ และควรใช้คณะกรรมการ คทช. เข้ามาดำเนินการจัดหาพื้นที่นอกเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อรองรับต่อไป

3. กรณีการขอกลับไปพื้นที่ใจแผ่นดินเป็นข้อเรียกร้องของประชากรบางส่วนไม่ใช่ประชากรทั้งหมดของหมู่บ้าน ควรตรวจสอบรายชื่อกับบัญชีการครอบครองที่ดินตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ที่มีการจัดทำข้อมูลไว้แล้ว โดยพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดินมีสภาพเป็นป่าและต้นน้ำลำธารที่สูง สภาพป่ามีการ ฟื้นตัวดีไม่ควรจัดเป็นที่อยู่อาศัย โดยในปัจจุบันหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้มีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร ในหมู่บ้านทั้ง 2 แห่ง จนมีรายได้ดีขึ้น มีการจัดการศึกษา พัฒนาระบบการเกษตร และการดูแลสุขภาพอย่างดี


ทั้งนี้ กรณีชาวบ้านบางกลอยบางส่วนต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมและอ้างว่าเคยเป็นหมู่บ้านที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย นั้น ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดได้ประสานอำเภอแก่งกระจาน ทราบว่าหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและป่าสงวนแห่งชาติยางน้ำกลัดเหนือ ยางน้ำกลัดใต้ พื้นที่ดังกล่าว จึงไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยได้






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.