"หมอยง" เผยสถานการณ์วัคซีนโควิดทั่วโลก เทียบกับไทย ติง 5 ข้อ ทำเราขยับตัวช้ากว่าประเทศอื่น
30 ธ.ค. 2563, 10:41
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออก โพสต์เฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า "Yong Poovorawan" เล่าเปรียบเทียบเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้วัคซีนโควิด-19 ของไทย กับทั่วโลก
1. ขณะนี้ทั่วโลก มีวัคซีนโควิดที่ได้ขึ้นทะเบียนให้ฉีดในภาวะฉุกเฉิน มีแล้วถึง 6 ชนิด ของจีน 3 ชนิด รัสเซีย 1 ชนิด อเมริกา 1 ชนิด และอเมริการ่วมกับเยอรมัน 1 ชนิด
2. วัคซีนเป็นเชื้อตาย 2 ชนิดของจีน ไวรัสเวกเตอร์ 2 ชนิดเป็นของจีน และรัสเซีย และ mRNA 2 ชนิดเป็นของอเมริกา และอเมริการ่วมกับเยอรมนี
3. วัคซีน AstraZeneca ที่ไทยรอคอยอยู่ ยังไม่สิ้นสุดการทดลอง
4. มีร่วม 10 ประเทศได้เริ่มฉีดวัคซีนไปแล้ว มากกว่า 5 ล้านโดส และภายในมกราคม จะมีการฉีดอีกหลายสิบเท่า ซึ่งคาดว่าจะเป็นร้อยล้านโดส
5. ประเทศต่าง ๆ ได้ขึ้นทะเบียน หรือทะเบียนในภาวะฉุกเฉินในวัคซีนบางตัว มากกว่า 30 ประเทศ และรวม EU ทั้งหมด แสดงว่าจะมีการฉีดเป็นจำนวนมาก ในเดือนมกราคม
ทำไมประเทศไทยจึงช้าในเรื่องวัคซีนโควิด
1. เพราะเรามุ่งอยู่กับวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ของ AstraZeneca อย่างเดียวหรือ? (ไม่ทราบ) ยังทดลองไม่เสร็จ และยังไม่มีประเทศไหนขึ้นทะเบียน แม้กระทั่งในภาวะฉุกเฉิน (รออังกฤษ) ความจำเป็นที่ต้องใช้วัคซีน มีจำนวนมากกว่าที่ทำสัญญาไว้มาก
2. เราไม่ควรยึดติดอยู่กับวัคซีนบริษัทใดบริษัทหนึ่ง มีวัคซีนให้เลือกในขณะนี้ หลายบริษัท แม้กระทั่งของจีน ยุโรป อเมริกา
3. ขบวนการติดต่อจัดซื้อ ไม่ควรอยู่ที่วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะมีความจำเป็นใช้ถึง 80 ล้านโดส ควรจะมีตัวเลือก และถือเป็นเรื่องเร่งด่วน
4. ภาคเอกชนควรมีส่วนช่วยภาครัฐ เชื่อว่าถ้าให้เอกชนนำเข้า จะแบ่งเบาภาครัฐได้มาก ถึงแม้ว่าวัคซีนที่จะต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ ก็ไม่เป็นปัญหา ในสิงคโปร์สามารถจัดการได้ ประเทศไทยก็ควรจะจัดการได้ เพื่อจะได้แบ่งเบาวัคซีนของภาครัฐ ให้ได้เพียงพอกับประชาชนทั่วไปโดยเร็ว
5. กระบวนการขึ้นทะเบียนของไทย จะต้องมีขั้นตอนที่รวดเร็ว
ดูแผนที่และข้อมูลจาก Wikipedia การวางแผนการให้วัคซีนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว แม้กระทั่งแผนการขึ้นทะเบียนการใช้อย่างฉุกเฉิน รออยู่ ก็ไม่มีประเทศไทย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งนำหน้าไปแล้ว
เราจะทำอย่างไร ให้ประเทศไทยขยับตัวได้เร็วกว่านี้ ไม่รอถึงมิถุนายน อย่างที่เป็นข่าว การระบาดครั้งนี้ หนักกว่าที่คิด ผู้รับวัคซีน ควรมีสิทธิเลือกที่จะฉีดหรือไม่ฉีด และควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด
ส่วนในกรณีที่วัคซีนเข้ามาในระยะแรก วัคซีนจะไม่เพียงพอในการให้กับคนหมู่มาก ผู้ที่สมควรที่จะได้รับวัคซีนก่อนคือผู้ที่มีความเสี่ยง หมายความว่าเมื่อติดโรคแล้วจะมีอาการรุนแรง หรือมีโอกาสที่จะติดโรคสูง จึงได้แก่
1 กลุ่มผู้สูงอายุ โดยทั่วไปจะถือเอาอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
2 กลุ่มบุคลากรที่ทำงานดูแลรักษาผู้ป่วย สอบสวน และทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานที่ ที่มีผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ
3 ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ
และเมื่อมีวัคซีนมากขึ้น จึงค่อยเพิ่มกลุ่มเสี่ยงกลุ่มอื่น ผู้มีอายุน้อย โดยเฉพาะต่ำกว่า 40 ปีลงมา และมีร่างกายแข็งแรง เมื่อติดเชื้อจะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ และโรคนี้เมื่อเป็นกับเด็กอาการน้อยมาก ในเด็กจึงยังไม่มีการให้วัคซีนกันในขณะนี้ จนกว่าจะมีการรอการทดสอบการให้วัคซีนในเด็ก และมีข้อมูลการให้ที่มากพอในเด็ก ก็น่าจะเป็นกลุ่มท้าย เราควรพิจารณาว่าเราอยู่กลุ่มใด มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด