มท.1 หารือผู้ว่าฯ พื้นที่ควบคุมสูงสุด ย้ำสร้างการรับรู้มาตรการสุขอนามัย ลดเคลื่อนย้ายคน
4 ม.ค. 2564, 19:06
วันนี้ (4 ม.ค.64) เวลา 16:30 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายหลังการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการสำคัญ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย พร้อมพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 27 จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เปิดเผยว่า ในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมีจำนวนผู้ติดเชื้อฯ ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 16) และมีคำสั่ง ศบค.ที่ 1/2564 กำหนดพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ใน 27 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งได้มอบนโยบายในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้เกิดการบูรณาการและประสานการทำงานเป็นไปตามข้อกำหนดและนโยบายของ ศบค. โดย ศบค.มท. จะเป็นหน่วยงานในการประสานการปฏิบัติมาตรการต่าง ๆ ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสถานการณ์ที่มีเอกภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่จะต้องดำเนินการในพื้นที่ สิ่งสำคัญที่สุดคือมาตรการด้านสุขอนามัย หรือ DMHTT ได้แก่ การเว้นระยะระหว่างกัน สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและสังเกตอาการ และใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทำอย่างเข้มข้น เพื่อลดการแพร่ระบาดและสามารถป้องกันตนเองจากเชื้อโรคได้ การคัดแยกและการสอบสวนโรคผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยง เมื่อตรวจแล้วจะต้องจัดสถานที่คัดแยกกลุ่มคนต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยอาการไม่หนักมาก เป็นต้น และในโรงงานอุตสาหกรรมก็เช่นกัน ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนำไปพิจารณาดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขด้วย สำหรับการสกัดกั้นการแพร่เชื้อในพื้นที่ ให้มอบหมายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน ประสานความร่วมมือจากประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแลบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ และใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) บูรณาการฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่ การขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รวมถึงพิจารณาตั้งด่านสกัดบริเวณถนนสายรอง นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการลดการเคลื่อนที่ของคน (Mobility) การปิดสถานที่ที่มีกิจกรรมแออัด แต่อย่างไรก็ตาม ให้คำนึงถึงด้านเศรษฐกิจไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกิดความจำเป็นด้วย
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เน้นย้ำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต้องสร้างการรับรู้เข้าใจกับประชาชนให้มีความตระหนักและร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเต็มกำลังความสามารถ และขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกคนทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างแข็งขัน และหากมีข้อหารือเพิ่มเติม ขอให้เสนอมายัง ศบค.มท. เพื่อพิจารณานำเสนอ ศบค. ต่อไป