"รัฐมนตรีเกษตรฯ" นำทีมผู้บริหารลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สั่งเพิ่มเที่ยวบินฝนหลวง
31 ก.ค. 2562, 16:49
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม และลงพื้นที่ ตรวจปัญหาภัยแล้ง วิกฤติ ทั้งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค ที่อ่างเก็บน้ำลำพอก อ.ศีขรภูมิ บ่อระเบิดหินเขาพนมสวาย ต.นาบัวเมืองสุรินทร์ เพื่อนำน้ำส่งมายังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงซึ่งแห้งขอดเพื่อผลิตน้ำประปา สำหรับอุปโภคบริโภคในเขตเทศบาลเมือง และรอบเมืองสุรินทร์ ประชุมหน่วยงานต่างๆเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำเพื่อแจกจ่ายน้ำแก่ประชาชนในการแก้ไขปัญหาขาดน้ำ ในพื้นที่ต่างๆที่ประสบปัญหาภัยแล้งในขณะนี้
เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ณ โครงการชลประทานสุรินทร์ (ห้วนเสนง) ณ จังหวัดสุรินทร์ ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากฝนทิ้งช่วงทำให้นาข้าวได้รับความเสียหายจำนวนมาก จึงต้องลงมาร่วมรับฟังและเน้นย้ำแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ทั้งปัญหาน้ำที่มีไม่พอเพียง การช่วยเหลือทางด้านผลผลิตทางการเกษตร และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตในรอบเพาะปลูกถัดไป อย่างทันเหตุการณ์
ปัจจุบันการเพาะปลูกข้าวในจังหวัดสุรินทร์มีความเสี่ยง เนื่องจากปริมาณฝนตกค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ข้าวเหี่ยวเฉาไม่สมบูรณ์ คาดว่าจะมีพื้นที่เสียหาย 438,997 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 200,251 ครัวเรือน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีแนวทางแก้ไขปัญหา คือ สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอได้ลงพื้นที่สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรทราบถึงสาเหตุของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่ทำให้นาข้าวเสียหาย ประสานขอรับการสนับสนุนในพื้นที่ร้องขอเร่งด่วน ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกร/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร โดยอธิบายหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ฝนทิ้งช่วง โดยในพื้นที่ประสบภัยจะต้องมีปริมาณฝนตกไม่เกินวันละ 1 มิลลิเมตรติดต่อกันเกิน 15 วัน จึงจะรายงานสถานการณ์ภัยที่เกิดจากฝนทิ้งช่วง ตามขั้นตอนการเป็นพื้นที่ประกาศภัยฯ และ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดสุรินทร์ร่วมบูรณาการติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม และทำความเข้าใจกับเกษตรกร
สำหรับจังหวัดสุรินทร์ ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ค.62 มีปริมาณน้ำเก็บกักจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 26 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 346 แห่งรวมกัน 66 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 25 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 1.067 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 0.806 ล้าย ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4 ของความจุอ่าง และอ่างเก็บน้ำห้วยอำปึล ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำ 0.261 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 0.94 ซึ่งสาเหตุการเกิดภัยแล้งสืบเนื่องจากมีปริมาณฝนน้อยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณฝนตกเพียง 900 มม. ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 17 แห่ง มีเพียง 131 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของค่าเฉลี่ย
จนถึงปัจจุบันมีปริมาณฝนสะสม 399 มม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพียง 13 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 2 ของค่าเฉลี่ย ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือ โดยทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำอำปึล ปริมาณ 0.50 ล้าน ลบ.ม. พร้อมขุดร่องชักน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเข้าสู่จุดสูบน้ำการประปาและสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำราชมงคลลงห้วยเสนง ปริมาณ 0.25 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งผันน้ำจากบ่อหิน ปริมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำช่วยเหลือได้ 21 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 2 อ่างเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาเลี้ยงอำเภอเมืองสุรินทร์ นอกจากนี้ ยังประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อเจาะน้ำบาดาลเติมน้ำสู่อ่างฯ รวมถึงจะขุดลอกแก้มลิงเกาะแก้วและป่าเวย อำเภอสำโรงทาบเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักของจังหวัดสุรินทร์อีกทางหนึ่งด้วย
แม้ว่าบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนเพิ่มแล้วก็ตาม แต่ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำการเพาะปลูกต่อเนื่อง หรือทำการเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร สำหรับพื้นที่ที่เพาะปลูกแล้ว ขอให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้น้ำตามรอบเวรตัวเองอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้ใช้น้ำร่วมกันได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม ได้มีพื้นที่เฝ้าระวังภัยแล้งในเขตชลประทานทั่วประเทศ จำนวน 25 จังหวัด 144 อำเภอ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่เฝ้าระวัง 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม และสุรินทร์ นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังมีแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2562 ในการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า เพื่อลดความหนาแน่นของหมอกควันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รวมทั้งการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ แผนการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ เพื่อบรรเทาและลดความเสียหายจากการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่การเกษตร แผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ และเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรม และแผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง
ซึ่งผลการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 29 ก.ค. 62 จากการตั้งหน่วย 151 วัน มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 143 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง 138 วัน คิดเป็นร้อยละ 88.16 มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด และมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 69 เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุรินทร์ มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 32 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง 27 วัน คิดเป็นร้อยละ 84.38 มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และสุรินทร์ อีกทั้งยังปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลืออ่างเก็บน้ำห้วยเสนง จำนวน 3 วัน มีฝนตก 3 วัน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสะสมรวม 0.017 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงต้องแก้ไข น้ำอุปโภค บริโภคยอมับว่าวิกฤติจริงๆต้องใช้การผันน้ำจากบ่อหินเก่า ที่วนอุทยานพนมสวาย มายังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเพื่อการอุปโภคบริโภค และยังได้ทำฝนหลวงควบคู่ไปด้วย และหากฝนตกลงมาในสัปดาห์นี้ตามที่ กรุอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ไว้ ก็จะสามารถบรรเทาปัญหาลงไปได้ ที่สำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบให้สามารถใช้น้ำไปจนถึงเดือนเมษายน หน้าเพราะขณะนี้มีน้ำต้นทุนอยู่ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรถ้าเตรียมการจัดการให้ดีก็จะพอเพื่อการอุปโภคบริโภคผ่านแล้งไปได้มันเป็นวิกฤติภัยแล้งจริงๆ ส่วนแผนระยะยาวก็จะเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ หรือทำแก้มลิงซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณหน้า การเดินทางมาวันนี้ มาเจอปัญหาภัยแล้งจริงๆดีกว่าการเห็นแต่ในภาพได้มารับฟังปัญหาเองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า ในส่วนของต้นข้าวเสียหายจากภัยแล้ง เกษตรกรต้องการปลูกข้าวใหม่ ให้กรมการข้าวจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนที่มีแมลงศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตรได้ให้เกษตรตำบล เกษตรอำเภอลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย พืชการเกษตรและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อวิกฤติน้ำการเกษตรจริงๆเราก็ต้องขอความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด ขณะนี้มีการสำรวจความเสียหายด้านการเกษตรที่เกิดขึ้นแล้วและให้จังหวัดแต่ละจังหวัดปะกาศพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้งแล้วซึ่งทางรัฐบาลก็ได้เตรียมงบประมาณกลางเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้ภายใน 30-60 วัน เมื่อมีน้ำน้อย ก็ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบก็จะบรรเทาปัญหาภัยแล้งลงไปได้ในระดับหนึ่ง