ปภ. เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม "ภาคใต้ 2 จังหวัด "และคลี่คลายสถานการณ์ต่อเนื่อง
14 ม.ค. 2564, 09:16
วันที่ 14 ม.ค. 64 เวลา 09.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรงในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี รวม 32 อำเภอ 193 ตำบล 1,047 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,315 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 4 ราย ผู้บาดเจ็บ 3 ราย ปิดจุดอพยพแล้วทุกจุด เนื่องจากประชาชนสามารถกลับเข้าที่พักอาศัยได้แล้วทั้งหมด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 2 จังหวัด ได้แก่ ยะลา และปัตตานี ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมและสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลมรสุมตะวันออก เฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรงประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งสหพันธรัฐมาเลเซีย ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 - ปัจจุบัน (14 มกราคม 2564 เวลา 06.00 น.) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และดินสไลด์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี รวม 32 อำเภอ 193 ตำบล 1,047 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,315 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 4 ราย (ยะลา 2 ราย สงขลา 1 ราย ปัตตานี 1 ราย) ผู้บาดเจ็บ 3 ราย (สงขลา 2 ราย ปัตตานี 1 ราย) ปิดจุดอพยพแล้วทุกจุด เนื่องจากประชาชนสามารถกลับเข้าที่พักอาศัยได้แล้วทั้งหมด ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 2 จังหวัด รวม 5 อำเภอ 32 ตำบล 91 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,642 ครัวเรือน ดังนี้
ยะลา น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา และอำเภอเบตง รวม 6 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,562 ครัวเรือน
ปัตตานี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอ แม่ลาน อำเภอหนองจิก และอำเภอยะรัง รวม 26 ตำบล 84 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,080 หมู่บ้าน ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยทั้ง 2 จังหวัด ระดับน้ำลดลง
ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยระดมเครื่องจักรกลและเครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่ เพื่อเร่งระบายน้ำและให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่และประเมินความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถ แจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป