มท.2 แจงแนวทางขอใช้ "ที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ" ย้ำรัฐไม่ขัดข้องแต่ต้องเกิดประโยชน์ส่วนรวม
14 ม.ค. 2564, 14:29
วันที่ 14 มกราคม 2564 ที่กระทรวงมหาดไทย มีการเปิดเผยถึงกรณีคณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายมีปัญหาการก่อสร้างพุทธมณฑลในจังหวัดเชียงราย ที่มีพระเชียงแสนสิงห์องค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูงกว่า 30.09 เมตร ประดิษฐานอยู่ แต่ติดขัดในที่ดินของพุทธมณฑล ยังไม่สามารถที่จะถ่ายโอนไปยังหน่วยงานของรัฐได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากยังเป็นที่สาธารณประโยชน์ (น.ส.ล.) จึงต้องมีการเร่งรัดให้มีการดำเนินการที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย
โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า "ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ เพื่อให้ทบวงการเมืองใช้ประโยชน์ในราชการในท้องที่ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอให้จัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ แปลง "ที่เลี้ยงสัตว์ หมู่ที่ 15" ในท้องที่ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งพุทธมณฑลสมโภช 750 ปี เมืองเชียงราย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐดังกล่าว เพื่อให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งพุทธมณฑลสมโภช 750 เมืองเชียงราย ภายในแนวเขตตามที่กำหนดในท้ายประกาศ ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 และได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา"
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐพร้อมดำเนินการให้อย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว ซึ่งเราต้องมองไปถึงเรื่องของการใช้ที่ดินที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ อย่างกรณีคณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายเสนอให้ดำเนินการมานั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ขอเพียงแค่ให้มีการตรวจสอบหลักฐานและดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายเท่านั้น ซึ่งพร้อมดำเนินการให้ทุกแห่ง"
ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินการจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ เพื่อให้ทบวงการเมืองใช้ประโยชน์ในราชการตามมาตรา 8 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้น ผู้ขอซึ่งเป็นทบวงการเมืองให้ยื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและในเขต กทม. ให้ยื่นต่อ อธิบดีกรมที่ดิน โดยที่ดิน ที่ขอต้องอยู่ในบริเวณที่กำหนดความเหมาะสมใช้ประโยชน์ในราชการ และไม่ขัดกฎหมายผังเมือง จากนั้นอำเภอ หรือ เขตท้องที่สอบสวนประวัติความเป็นมาพร้อมให้ความเห็น โดยผู้ขอใช้จัดทำแผนที่ท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย พร้อมจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประชุมให้ความเห็น และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งจังหวัดก็จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและจะประกาศจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐกำหนด 30 วัน ครบกำหนดและไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็ให้สรุปเรื่องส่งต่อไปยังกรมที่ดินตรวจสอบเรื่อง โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2550 และยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย พร้อมรูปแผนที่ และเสนอให้รัฐมนตรีลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทยและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งจะต้องดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยถอนการหวงห้ามไปในคราวเดียวกันอีกด้วย