ประมง จ.กาญจน์ ลงพื้นที่สำรวจ ปลากดคังตาย เสียหาย 30 ล้าน
25 ม.ค. 2564, 17:49
จากกรณี เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เพจเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า “สาเหตุการเกิดน้ำขุ่นและมีกลิ่นเหม็นในช่วงนี้เป็นเพราะปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า "การพลิกกลับของชั้นน้ำ" ซึ่งส่งผลให้พื้นที่น้ำที่มีความกว้างใหญ่และลึกเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดโดยธรรมชาติ ความหนาแน่นของน้ำจะเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ ทำให้น้ำถูกแบ่งออกเป็นชั้นๆ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่แตกต่างกัน ซึ่งเรียกว่า "การแบ่งชั้นน้ำเนื่องจากอุณหภูมิ" ในช่วงหน้าร้อนน้ำชั้นบนจะมีอุณหภูมิสูง
เนื่องจากได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ ส่วนน้ำชั้นล่างจะมีอุณหภูมิต่ำเนื่องจากแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง นั่นทำให้น้ำชั้นบนมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำชั้นล่าง เมื่อเข้าสู่หน้าหนาวน้ำชั้นบนจะมีอุณหภูมิต่ำลง ทำให้ความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น น้ำชั้นบนจึงเกิดการจมตัว และทำให้น้ำชั้นล่างที่มีตะกอนพลิกกลับขึ้นมา จึงทำให้เกิดน้ำขุ่นและมีกลิ่นเหม็น ซึ่ง "การพลิกกลับของชั้นน้ำ" นี้จะเกิดหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ตามความหนาแน่นของชั้นน้ำที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาระหว่างวันที่ 21-22-23 ม.ค.เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ชาวบ้านโบอ่อง หมู่ 2 ต.ปิล็อค อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากปลากดคังที่เลี่ยงเอาไว้ภายในกระชังริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ตายพร้อมกันเป็นจำนวนมาก มีผู้ได้รับผลกระทบเกือบ 30 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกันหลายล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ 25 ม.ค.64 อาจารย์ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ทำไมน้ำจึงขุ่น เนื่องจากระดับน้ำบาดาลหรือ น้ำใต้ดินรอบอ่างเก็บน้ำช่วงเข้าฤดูแล้งนี้ น่าจะลดลงมาก ทำให้ความลาดชันของชั้นน้ำบาดาลรอบอ่างฯและในตัวอ่างต่างกันมากขึ้นๆ น้ำใต้ดิน น้ำบาดาลไหลจากชั้นน้ำที่สูงกว่าลงไปในอ่างฯ น้ำใต้ดินจึงไหลลงมาจากขอบอ่างเร็วขึ้นมาก ตามแรงดันน้ำใต้ดินที่เพิ่มขึ้นจากระดับที่ต่างกันนั้น นี่คงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขุ่นได้ในธรรมชาติ
ส่วนกิจกรรมมนุษย์ที่เกิดจากการใช้น้ำรอบอ่าง น้ำที่ไหลกลับลงอ่างก็ทำให้เกิดน้ำขุ่นได้ตามระดับการใช้น้ำ ผนวกกับสาเหตุอื่นๆ กล่าวคือ ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ มีซากต้นไม้ใบไม้ฝังกลบอยู่มากมายตั้งแต่เริ่มกักเก็บน้ำ บวกกับซากต้นไม้และซากสิ่งมีชีวิตที่ถูกพัดพามาสมทบภายหลัง
เมื่อน้ำที่เคยกดทับลดลง ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และก๊าซไข่เน่าก็ละลายในน้ำเพิ่มขึ้น และลอยระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเป็นปรกติ สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพราะ ปริมาณสัดส่วนของก๊าซอ๊อกซิเจนในน้ำลดลงมาก เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มก๊าซที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิต
ที่สำคัญคือก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซต์และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ข้างต้น ซึ่งพบมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่พร่องอ๊อกซิเจนในน้ำ ต้องตรวจสอบระดับน้ำในอ่าง ปริมาณน้ำในอ่างแต่ละช่วงที่ผ่านมา ว่าคุณภาพน้ำในช่วงต่างๆเหล่านั้นและปัจจุบัน รวมถึงสภาพตะกอนและสิ่งแปลกปลอมใต้ท้องน้ำ รวมถึงเศษอาหารปลา และมูลปลาตกค้างในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ปัจจัยทั้งหมด เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในธรรมชาติเป็นปรกติอยู่แล้ว ยิ่งน้ำนิ่งยิ่งเพิ่มความรุนแรง เพราะขาดความสมดุลของสภาพแวดล้อม ยา ปุ๋ย และสารตกค้างที่เกิดจากกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่ทั้งหมดก็ต้องนำมาพิจารณาถึงสาเหตุการตายของปลาด้วย
สำหรับแนวทางการป้องกันปัญหาเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียของเกษตรกรเลี้ยงปลาในอ่าง คือการประเมินศักยภาพทรัพยากรน้ำในอ่างในแต่ละฤดูกาล มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ เพื่อให้เกิดสมดุลทางสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด” อ.ดร.ปริญญา เผย
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 15.30 น.นายวรรณนัฑ หิรัญชุฬหะ ประมงจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาตนพร้อมด้วยนางสาวธิดาวรรณ โพธิ์เพ็ชร หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง นายจิระพงษ์ ศิริวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาอาชีพด้านการประมง นายณรงค์ เทศธรรม ประมงอำเภอทองผาภูมิ นางสาวนันทภัค โพธิสาร นักวิชาการประมงปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกาญจนบุรี
ร่วมกับนายไพศาล รัตนา หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนวชิราลงกรณ ผู้แทนนายอำเภอทองผาภูมิ ผู้แทนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี นายอภิรักษ์ ทองโต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ดำเนินการเข้าไปเก็บข้อมูล กรณีปลากดคังตายที่บ้านโบอ่อง หมู่ที่ 2 ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
จากการตรวจสอบอย่างละเอียดได้ข้อมูลเบื้องต้นคือ พันธุ์ปลาที่เสียหายเป็นปลากดคังขนาดเฉลี่ย 1-5 กิโลกรัม น้ำหนักรวมกันประมาณ 200 ตัน จำนวนปลากระชังที่เสียหาย ทั้งสิ้น 22 ราย จำนวน 85 กระชัง มูลค่าความเสียหายประมาณ 30 ล้านบาท
จากการตรวจสอบเกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชังที่ตั้งอยู่ในอ่าวทำให้น้ำหมุนเวียนได้น้อย ปริมาณน้ำในเขื่อนมี 60% ซึ่งน้อยกว่าปริมาณน้ำในทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากมี plankton bloom ทำให้เกิดน้ำเสีย ลมพัดเข้าหาอ่าว สีน้ำเข้ม ขุ่น มีลมแรง ทำให้เกิดน้ำเปลี่ยนสี
ผลการวิเคราะห์น้ำจุดที่ปลาตายช่วงเวลา 11.30 น.พบปริมาณออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน 2.7 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่า pH ต่ำกว่ามาตรฐาน 6.27 แอมโมเนีย 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร อุณหภูมิ 26.5 องศาเซลเซียส ค่าไนไตรท์ 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าความกระด้างของน้ำ 100 มิลลิกรัมต่อลิตร ความโปร่งแสง 1.8 เมตร และค่าความเป็นด่าง 50 มิลลิกรัมต่อลิตร
ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ได้ทำการชี้แจงกับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ให้ทราบว่าเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ในเขตอุทยาน จึงไม่สามารถขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับกรมประมงได้
ดังนั้นจึงเสนอแนะให้เกษตรกรลากกระชังมาไว้บริเวณที่เหมาะสมน้ำไหลเวียนสะดวก ลดปริมาณการเลี้ยงให้หนาแน่นน้อยลง จับปลาขนาดใหญ่ขึ้นจำหน่าย งดอาหาร จนกว่าคุณภาพน้ำจะเป็นปกติ ส่วนกรณีที่ปลาตายให้นำไปฝังกลบโรยด้วยปูนขาวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และให้เติมอากาศบริเวณกระชังเลี้ยงปลา ซึ่งเกษตรกรต่างก็เข้าใจกันเป็นอย่างดี