"ผอ.อช.ทองผาภูมิ" สั่งเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ สร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน
28 ม.ค. 2564, 11:07
วันนี้ 28 ม.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยภาพและข้อมูลลงในเพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า เมื่อวันที่27มกราคม 2564 มีการนำเสนอข่าวพบช้างป่าทำลายพืชสวนและรื้อบ้านประชาชน จนต้องย้ายบ้านหนี ที่บ้านสหกรณ์นิคม หมู่ที่ 1 ต.สหกรณ์นิคม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
สำหรับกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 มีช้างป่าประมาณ 50-60 ตัว ได้เคลื่อนย้ายจากพื้นที่สวนป่าทองผาภูมิ ท้องที่ตำบลห้วยเขย่ง เข้ามาหากินในพื้นที่ตำบลท่าขนุน บริเวณป่าบ้านพุยาง หมู่ที่ 1 ป่าบ้านหนองแดง-ป่าบ้านเสาหงส์ หมู่ที่ 2 และป่าบ้านผาอ้น หมู่ที่ 3 (เป็นพื้นที่ในและนอกเขตอุทยานแห่งชาติ)
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ช้างได้เคลื่อนข้ามแม่น้ำแควน้อย (จากฝั่งตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ) ไปยังป่าบ้านจันเดย์ หมู่ที่ 3 โดยออกหากินและหลบพักอาศัย พร้อมทั้งข้ามแม่น้ำสลับมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบันกลุ่มช้างป่าได้เคลื่อนข้ามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 323 (กาญจนบุรี-ทองผาภูมิ) ระหว่างหลัก กม.192-195 ไปยังป่าบ้านองธิ หมู่ที่ 2 ตำบลท่าขนุน และต่อไปยังป่าบ้านสหกรณ์นิคม หมู่ที่ 1 ตำบลสหกรณ์นิคม
ทั้งนี้ ในระหว่างการเคลื่อนย้าย ช้างได้กัดกินพืชเกษตร จำพวกกล้วยน้ำว้า มะพร้าว มันสำปะหลัง ถั่ว มะเขือที่ปลูกขวางเส้นทาง รวมทั้งที่พักชั่วคราวในสวนยางพารา จำนวน 2 – 3 หลัง (เป็นการรื้อฝาเพื่อหาที่มาของกลิ่น) และทำลายอุปกรณ์ประปาของชาวบ้านในพื้นที่ทำการเกษตร จากการสอบถามประมาณ 200 ไร่ โดยไม่มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด
โดยนับแต่ช้างป่าเคลื่อนย้ายจากพื้นที่ป่า เข้าสู่พื้นที่ทำกินของราษฎร เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติลำคลองงู หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ.12 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และราษฎรจิตอาสาในพื้นที่เฝ้าระวัง สังเกตพฤติกรรม และผลักดันเพื่อให้ช้างกลับเข้าสู่ป่าตลอด 24 ชั่วโมง
ในขณะเดียวกันก็ออกประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนเพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรและช้างป่ามาโดยตลอด เนื่องจากช้างป่าดังกล่าวได้ใช้เส้นทางบนถนนสายหลักและสายรอง รวมทั้งแจ้งต่อที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านทุกครั้ง
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ได้ทำการแจ้งประชาสัมพันธ์ ให้ราษฎร ที่ได้รับความเสียหายจากช้างป่า ให้ไปยื่นขอรับค่าเสียหาย จากหน่วยงานฝ่ายปกครอง และท้องถิ่น รวมทั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อขอรับความช่วยเหลือตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว
นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาเหตุที่ช้างป่าไม่กลับเข้าพื้นที่ป่า เนื่องจากติดใจในรสชาติพืชเกษตรที่ปลูก มีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ และความปลอดภัยของลูกช้างที่เกิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 10 ตัว และการเคลื่อนที่ของช้างป่ากลุ่มนี้ คาดว่าเป็นการหาแหล่งที่อยู่และแหล่งหากินใหม่ (เป็นวงรอบของช้างป่า) โดยชุมชนและราษฎรต้องเข้าใจวิถีชีวิตของช้าง และปรับเปลี่ยนเลี่ยงการปลูกพืชเกษตรที่ช้างชอบ ซึ่งในระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จะติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
สำหรับช้างป่าโขลงนี้ได้กระจาย เข้าไปในพื้นที่ของชาวบ้านหมู่ที่ 1 บ้านสหกรณ์นิคม ตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จนได้รับความเดือนร้อนจากช้างป่าโขลงนี้บุกทำลายพืชสวนเสียหายหลายร้อยไร่ รวมถึงได้รื้อถอนบ้านประชาชน จนต้องย้ายบ้านหนี
ผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่เพื่อดูโขลงช้างที่ป่าที่ลงมาหากินและทำลายพืชไร่ พบว่าช้างที่ลงมาหากินส่วนหนึ่งเป็นช้างป่าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้ข้ามแม่น้ำแควน้อย มาหากิน และอีกส่วนหนึ่งมาจากอุทยานแห่งชาติเอราวัณ รวมกว่า 100 ตัว จากการสอบถามชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทราบว่า ช้างป่าได้ลงมาหากินในพื้นที่ประมาณ 2 เดือนแล้ว และทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเสียหาย เช่น มะพร้าว กล้วย สัปรด ได้รับความเสียหายกว่า 1 พันไร่ ซึ่งเจ้าของไร่ที่ได้รับความเสียหาย ได้ช่วยกันนำระเบิดปิงปอง ขว้างไล่ช้าง แต่ช้างก็ไม่หนี
อย่างไรก็ตามในช่วงกลางคืนชาวบ้านได้ช่วยกันนำระเบิดปิงป้อง การซุมจุดไฟเป็นจุดๆ แล้วช่วยขับไล่ช้างตั้งแต่เวลา 19.00 น. จนถึงเวลา 02.00 น. พบว่าช้างไม่สามารถออกหาอาหารกินในเวลากลางคืนได้ จนเช้าโขลงช้างป่า มีกว่า 50 ตัว ได้ออกจากป่ามาหากิน ในพื้นที่ของชาวบ้าน ชาวบ้านวอนหน่วยงานรัฐ ลงมาช่วยเหลือชาวบ้านด้วย หรือสั่งการณ์ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนบ้าง ก่อนที่ชาวบ้านและช้างจะเกิดอาการเคียดจนเกิดเหตุการณ์บานปลายได้ และจากการที่โขลงช้างป่า ได้ลงมาหากินและทำลายพืชไร่ ในครั้งนี้รวมถึงได้รื้อบ้านเรือนประชาชนเสียหาย ทำให้ชาวบ้านเกิดกลัว จนต้องย้ายหนีออกไป จากพื้นที่หลายหลังคาเรือน