25 ปีที่รอคอย "แม่นุ้ย พญาแร้ง" วางไข่สำเร็จ 1 ฟอง ที่สวนสัตว์โคราช
5 ก.พ. 2564, 17:28
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ เพจเฟซบุ๊ค Korat Daily รายงานว่า ที่สวนสัตว์นครราชสีมามีข่าวดีที่รอคอยมานานถึง 25 ปี หลังจาก แม่นุ้ย พญาแร้ง ได้วางไข่ 1 ฟอง ถือเป็นครั้งแรก ในเอเชียที่พญาแร้งออกไข่ในกรงเลี้ยง และกว่า 25 ปี ของประเทศไทยที่พญาแร้งออกไข่สำเร็จ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ด้าน สวนสัตว์นครราชสีมา มีพญาแร้งทั้งหมด 4 ตัว ได้แก่ ป๊อกกี้ เพศผู้อายุ 19 ปี แจ็ค เพศผู้อายุ 21 ปี ตาล เพศผู้อายุ 12 ปี และนุ้ย เพศเมีย อายุ 10 ปี เริ่มทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธ์ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ ทีมทำงานโครงการ ”การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย” ต่างรอลุ้นกันมาตลอดทั้งปี ว่าพญาแร้งในกรงเลี้ยง สวนสัตว์นครราชสีมาจะวางไข่อีกหรือไม่
และได้เฮกันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 แม่นุ้ยพญาแร้งในกรงเลี้ยง วางไข่ 1 ฟอง ให้เป็นของขวัญแก่คนไทยทั้งประเทศโดย 'พญาแร้ง' เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหนึ่งชนิดที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติของประเทศไทยไปแล้วเกือบ 30 ปี และหลงเหลืออยู่ในการเพาะเลี้ยงของประเทศไทย เพียง 5 ตัวเท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 นายสัตวแพทย์สุเมธ กมลนรนาถ รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sumate Kamolnorranath เกี่ยวกับโครงการ”การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย”
ด้าน นายณรงวิทย์ ชดช้อย รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทีมงานสวนสัตว์นครราชสีมา ได้มีการนำไข่ของพญาแร้งจำนวนหนึ่งฟอง มาเก็บในตู้ฟักไข่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทั้งนี้การนำไข่เข้าตู้ฟักจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดของลูกนก และยังเป็นการกระตุ้นให้แม่นกวางไข่ใบที่ 2 ตามกระบวนการเพาะพันธุ์นกนักล่าในสภาพการเพาะเลี้ยง เพื่อเพิ่มจำนวนไข่ต่อฤดูกาลอีกด้วย
สำหรับไข่ฟองนี้เกิดจากพ่อพญาแร้ง ชื่อตาล และแม่พญาแร้ง ชื่อนุ้ย ซึ่งจับคู่กันมาซักระยะแล้ว แต่ยังไม่เคยวางไข่สำเร็จ ทีมเพาะเลี้ยงจึงได้พัฒนา และปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงเกือบทั้งระบบ และกำลังอยู่ในความดูแลของทีมเพาะเลี้ยงอย่างใกล้ชิด ในธรรมชาติพญาแร้งจะวางไข่ 2 ปี เพียง 1 ฟองเท่านั้น แต่ในการเพาะพันธุ์ อาจวางไข่ได้ทุกปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ วัย และอาหาร ที่อุดมสมบูรณ์ หากโชคดีแม่นุ้ยพญาแร้งวางไข่ใบที่สอง จะให้แม่นุ้ยได้ฟักไข่เอง รอฟังความคืบหน้าต่อไป อีกครั้งใน 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้
ปัจจุบันกำลังมีโครงการภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และอีกหลายหน่วยงานพันธมิตรที่มีเป้าหมาย เพื่ออนุรักษ์พญาแร้งนอกถิ่นอาศัย ให้มีประชากรที่เพียงพอต่อการปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์พญาแร้งในถิ่นอาศัย ณ บริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ต่อไปในอนาคต
ขอบคุณข้อมูล Korat Daily
ภาพจาก Sumate Kamolnorranath