สธ.เปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางโรคผู้สูงอายุ นำร่อง รพ.อุดรธานี
12 ก.พ. 2564, 15:59
วันที่ 12 ก.พ. 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุปัจจุบันมีผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับระบบดูแลผู้สูงอายุ ทั้งบริการสุขภาพ สวัสดิการสังคม และพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาการติดบ้าน ติดเตียง ในกลุ่มผู้สูงอายุ ในปี 2563 ได้พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) มีตำบลผ่านเกณฑ์ 6,722 ตำบล จาก 7,255 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 92.65 มีผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลสามารถเปลี่ยนจากกลุ่มติดเตียงเป็นติดบ้านร้อยละ 1.44 พร้อมกันนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้อำนวยความสะดวกแก่ครอบครัวผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัดเปิดบริการ “คลินิกพิเศษเฉพาะทางโรคผู้สูงอายุ”ในวันหยุดราชการ นำร่องที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีเพื่อเตรียมขยายบริการทั่วประเทศในเมษายน ปี 2564
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดอุดรธานี มีผู้สูงอายุร้อยละ 15.28 จากประชากรทั้งหมดของจังหวัด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พบผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี จึงได้เปิด “คลินิกพิเศษเฉพาะทาง โรคผู้สูงอายุ” บริการเพิ่มในวันอาทิตย์ ให้ลูกหลานมากับผู้สูงอายุ เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 พบผู้สูงอายุที่มารับบริการส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ระบบปัสสาวะมีปัญหา ท้องเสีย และเจ็บป่วยทั่วไป หากต้องได้รับการรักษาเฉพาะทางมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคต่างๆให้บริการครอบคลุมครบวงจร ตั้งแต่การดูแลสุขภาพทั่วไป การป้องกัน รวมทั้งการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพที่มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ จนถึงการจัดการปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน เช่น การผ่าตัด โดยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ์รักษา หากมีผู้มารับบริการเพิ่มมากขึ้นจะเปิดบริการเพิ่มในวันเสาร์ และเพิ่มห้องบริการตรวจรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางสาขาที่เกี่ยวข้องให้ครบวงจรสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ได้เตรียมเปิดบริการให้คำปรึกษาแพทย์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติมด้วย
“นโยบายคลินิกพิเศษนอกเวลา เป็นอีกนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งใจให้มีขึ้น เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ลูกหลานสามารถพาผู้สูงอายุมารับบริการทางการแพทย์ได้แล้ว การสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติเป็นสิ่งสำคัญในผู้ป่วยรายใหม่ต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการพบแพทย์เพื่อที่จะอธิบายให้เข้าใจถึงการดูแลรักษาและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง”นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าว