ชาวบ้าน เฮ! อธิบดี “น้ำบาดาล” เผย “น้ำพุโซดา” ดื่มได้ปลอดภัย
15 ก.พ. 2564, 16:50
กาญจนบุรี ตระกูลใคร่ครวญ เป็นกำนันคนแรก!! อธิบดี “น้ำบาดาล” ชิม “น้ำพุโซดา” โชว์สื่อ พร้อมแจกจ่ายให้ทดลองดื่ม เร่งเจาะอีก 3 บ่อ ทำโครงการช่วยประชาชนแก้ภัยแล้ง เผย ต.ห้วยเจา เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 ประสบปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด
วันนี้ ( 15 ก.พ.64 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จากกรณีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเจาะพบแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 3 แห่ง โดยบ่อน้ำบาดาล 2 แห่ง ที่เจาะพบน้ำบาดาลพุ่งขึ้นมาเป็นน้ำพุสูงราว 2-3 เมตร มีรสชาติคล้ายน้ำโซดา สามารถใช้ดื่มกินได้ สร้างความฮือฮาให้แก่ชาวบ้านและผู้พบเห็น นั้น
ขณะนี้ผลการตรวจสอบและวิเคราะห์น้ำบาดาลออกมาแล้ว ปรากฏว่า บ่อน้ำบาดาลที่หมู่ 19 บ้านทุ่งคูณ ต.ห้วยกระเจา บ่อที่ 1 และบ่อที่ 2 น้ำบาดาลมีไบคาร์บอเนตสูง 2,420 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 1,870 มิลลิกรัมต่อลิตร ฟลูออไรด์สูงเล็กน้อย 1.4 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีเหล็กสูง 10 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 28 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ
ทั้งนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า เป็นความโชคดีที่น้ำบาดาลจากแหล่งน้ำบาดาลห้วยกระเจาไม่มีสารพิษหรือสารปนเปื้อนร้ายแรง และจากการตรวจสอบปริมาณน้ำบาดาลทั้ง 2 บ่อ คาดว่าจะสามารถพัฒนาน้ำขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือไม่น้อยกว่า 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี จากนั้นได้ให้เจ้าหน้าที่ทดลองกรองน้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลที่เก็บมาจากพื้นที่ ซึ่งมีสีแดงขุ่นเหมือนสนิมเหล็ก เพื่อกรองเอาสารละลายเหล็กออก โดยอธิบดีได้ทดลองดื่มให้ดู พร้อมเชิญผู้สื่อข่าวได้ทดลองดื่มน้ำที่ผ่านการกรองแล้ว น้ำดังกล่าวมีความใสสะอาดขึ้น แต่ยังคงรสหวานและไม่มีกลิ่นสนิมเหล็กแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม อธิบดีได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เป้าหมายตามภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล คือ การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งท้ายที่สุดพื้นที่ห้วยกระเจา กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะทำโครงการศึกษา สำรวจ และพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่งกักเก็บในหินแข็งระดับลึกในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน เพื่อพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาให้ประชาชนได้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร โดยเร่งเจาะอีก 3 บ่อ เพื่อให้ครบทั้ง 6 บ่อ ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ห้วยกระเจา” แต่เดิมอยู่ในเขตการปกครองท้องที่ของอำเภอพนมทวน เป็นตำบลที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 โดยมี นายปั้น ใคร่ครวญ หรือขุนกระเจนเขต เป็นกำนัน คนแรกของตำบลห้วยกระเจา ต่อมาได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 31 มีนาคม 2537 โดยแบ่งพื้นที่ของอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอห้วยกระเจา ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2537 มีเขตการปกครอง รวม 4 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลดอนแสลบ ตำบลวังไผ่ ตำบลสระลงเรือและตำบลห้วยกระเจา โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยกระเจา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 และยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลห้วยกระเจา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลวังไผ่ อำเภอห้วยกระเจา ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลดอนแสลบ ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย เทศบาลตำบลห้วยกระเจา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 230 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 143,750 ไร่ สภาพโดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ป่าเขาเหมาะสำหรับใช้ในการทำนา ทำไร่ และการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงกระบือ และไก่พื้นเมือง
สภาพภูมิประเทศ เนื่องจากสภาพการณ์ที่ทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลายไปมากมีผลกระทบต่อดุลภาพทางธรรมชาติเกิดภาวะอากาศวิปริต ฝนไม่ตกตามฤดูกาลเกิดภาวะอากาศที่แห้งแล้ง หน้าร้อนจะร้อนจัด ช่วงกลางวันถึงค่ำอากาศจะร้อนอบอ้าว ส่วนฤดูหนาวอากาศจะหนาวจัดแบบแห้งแล้ง
เทศบาลตำบลห้วยกระเจา มีจำนวนหมู่บ้านในเขต ทต.จำนวน 21 หมู่บ้าน ประชากรตำบลห้วยกระเจา มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ และอาชีพรับจ้างและค้าขาย เป็นต้น ตำบลห้วยกระเจา มีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 63,336 ไร่ แบ่งเป็น ที่นา 25,968 ไร่ ที่ไร่ จำนวน 37,368 ไร่ เกษตรกรปลูกพืชไร่ที่สำคัญ ได้แก่ ปลูกข้าว 25,968 ไร่ ปลูกมันสำปะหลัง 21,278 ไร่ ปลูกอ้อย 14,836 ไร่ ข้าวโพด 674 ไร่ แตงโมเมล็ด 300 ไร่ และ งาดำ 280 ไร่ เกษตรกรในพื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ได้แก่ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ เป็ดไข่ เป็ดเทศ ไก่เนื้อ ไก่พื้นเมือง โดยเฉพาะ โคพื้นเมือง มีจำนวน 27,959 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นตำบลที่มีจำนวนโคมากที่สุดในประเทศไทย หลังจากนี้ไป ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่จะได้หมดปัญหากับภัยแล้งมี่สะสมมาหลายชั่วอายุคนอย่างแน่นอน