เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



รพ.นครพิงค์ ผ่าตัด "มะเร็งรังไข่" ขนาดยักษ์ น้ำหนักกว่า 25 กก.


16 ก.พ. 2564, 09:42



รพ.นครพิงค์ ผ่าตัด "มะเร็งรังไข่" ขนาดยักษ์ น้ำหนักกว่า 25 กก.




โรงพยาบาลนครพิงค์ มีรายงานว่า ทีมสูตินรีแพทย์โรงพยาบาลนครพิงค์ นำโดย พญ.อัญชลี ชัยนวล ได้ทำการผ่าตัด ผู้ป่วย หญิงไทย อายุ 43 ปี มีอาการท้องอืด ท้องโตขึ้นเรื่อย ๆ มาประมาณ 5-6 เดือน คลำพบก้อนที่ท้องขนาดใหญ่ แพทย์ได้ทำการตรวจอัลตร้าซาวด์พบว่าเป็นก้อนขนาดใหญ่ที่รังไข่ จึงได้ทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก 

ก้อนเนื้องอก มีน้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม  ผลการผ่าตัดสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หลังผ่าตัดพบว่าผลชิ้นเนื้อเป็นมะเร็งรังไข่ จึงได้ให้การรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัด และตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง
 



สำหรับ เนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor) คือก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นที่ตัวรังไข่ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เนื้องอกรังไข่ธรรมดา (Benign ovarian tumor) และ มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) โดยอาการเบื้องต้นของเนื้องอกรังไข่ทั้งสองชนิด มักมีอาการคล้ายกัน แต่การแยกให้ได้ว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเป็นมะเร็งนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากความรุนแรงและการพยากรณ์โรคต่างกัน โดยเนื้องอกรังไข่ธรรมดา รักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด แต่สำหรับมะเร็งรังไข่นั้นหลังผ่าตัดอาจต้องมีการให้ยาเคมีบำบัด และรักษาต่อเนื่อง เพราะมีการลุกลามและสามารถกลับเป็นซ้ำได้


มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในสตรีไทย และถ้านับเฉพาะของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี มะเร็งรังไข่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) และมะเร็งตัวมดลูก (Uterine Cancer) โดยอุบัติการณ์ของมะเร็งรังไข่คือ 5.7 ต่อประชากรสตรี 100,000 คนต่อปี พบได้ในสตรีทุกช่วงวัย แต่พบได้มากในช่วงอายุ 40-60 ปี (ข้อมูลจากสถิติมะเร็งปี 2562 และ Cancer in Thailand 2013-2015 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ)


สาเหตุของมะเร็งรังไข่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยส่งเสริม โดยพบว่าสตรีที่มีภาวะดังต่อไปนี้ มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่
   - สตรีที่ไม่มีบุตร 
   - สตรีที่เคยเป็นมะเร็งที่เต้านม มะเร็งมดลูก และมะเร็งระบบทางเดินอาหาร 
   - มีประวัติญาติพี่น้องในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ 
   - สตรีที่มีการตกไข่อย่างต่อเนื่องทุกเดือน ประจำเดือนมาถี่ หมดประจำเดือนหรือเป็นวัยทองช้า 

อาการและอาการแสดง
   - อาจไม่มีอาการ แต่แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจหน้าท้อง หรือตรวจภายใน 
   - อาการอืดท้อง ปวดท้อง ท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น อึดอัดแน่นในท้อง คลำได้ก้อนในท้อง เบื่ออาหาร
คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารได้น้อย น้ำหนักตัวลด 
    - อาจมีอาการขับถ่าย หรือปัสสาวะลำบาก หากก้อนเนื้องอกไปกดเบียด

การวินิจฉัยและการรักษา
    - การตรวจหน้าท้อง หรือตรวจภายในคลำพบก้อนในบริเวณท้องน้อย 
    - การตรวจด้วยเครื่องความถี่สูง หรือการตรวจอัลตร้าซาวด์ ช่วยบอกได้ว่ามีก้อนในท้อง ในรายที่ ตรวจร่างกาย หรือตรวจภายในไม่พบ
    - เมื่อตรวจพบก้อนที่รังไข่ จะทำการผ่าตัดเอาก้อนออก โดยการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือมะเร็งรังไข่นั้นจะทราบได้จากการตรวจชิ้นเนื้อ โดยทราบหลังผ่าตัดประมาณ 1-2 สัปดาห์
    - หากผลชิ้นเนื้อพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ หลังการผ่าตัดจะมีการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นกับระยะของโรคและชนิดของเนื้อเยื่อมะเร็ง และทำการตรวจติดตามใกล้ชิดต่อไป
 

การป้องกันและการตรวจคัดกรอง
    - สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง และปรึกษาแพทย์เมื่อพบอาการผิดปกติ
    - ปัจจุบันมีการตรวจเลือดเพื่อหาค่ามะเร็งรังไข่ในเลือด เช่น ค่า CA-125 โดยการแปลผลต้องควบคู่กับการตรวจร่างกายและผลอัลตร้าซาวด์ 
    - สำหรับสตรีที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ จะมีการตรวจเลือดเพื่อหาสารพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านม (BRCA gene) ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยการตรวจยีนนี้ยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและสามารถตรวจได้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น
    - การกินยาเม็ดคุมกำเนิด มีรายงานว่าช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งรังไข่ได้
    - เนื่องจากมะเร็งรังไข่ในระยะแรก ๆ มักไม่มีอาการ และไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง การป้องกันจึงทำได้ยาก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ รับการตรวจภายในหรือตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง โดยแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.