"เกษตรกรราชบุรี" ตัดต้นคะน้ากว่า 1 แสนกิโล หลังเกิดภาวะล้นตลาด ราคาตกต่ำ พ่อค้าไม่รับซื้อ
17 ก.พ. 2564, 14:15
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสิงห์ เลิศรัตน์พัฒนา เปิดเผยว่า ตนทำอาชีพปลูกผักคะน้า บนพื้นที่ขนาด 26 ไร่ ในรูปแบบทำแปลงยกร่อง เนื่องด้วยคะน้าเป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกน้อยเพียง 45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ตนจึงวางแผนเริ่มการปลูกช่วงเดือนธันวาคม และจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนพอดี ซึ่งมีราคารับซื้อเมื่อปี 2563 สูงถึงกิโลกรัมละ 20 บาท
แต่ทว่าความฝันที่จะได้กำไรจนลืมตาอ้าปากกลับไม่เป็นความจริง หลังราคารับซื้อหน้าสวนในปีนี้เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท จึงประสบกับสภาวะขาดทุน เนื่องจากต้นทุนการปลูกทั้งในส่วนของค่าแรง ปุ๋ย และค่าเมล็ดพันธุ์ อยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาท หากตัดขายให้กับพ่อค้าก็จะต้องมีค่าจ้างตัดและค่าบรรจุอีกถุงละ 4 บาท เมื่อตนสอบถามถึงสาเหตุราคารับซื้ออันแสนตกต่ำ พ่อค้าบอกว่า เนื่องจากผักของตนไม่สวย ขายไม่ได้ราคา ประกอบกับคะน้าล้นตลาด มีผลผลิตคะน้าออกมาเป็นจำนวนมาก สวนทางกับจำนวนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อลดลง และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่
ดังนั้น สิ่งที่ตนและครอบครัวพอจะทำได้คือ การตัดต้นคะน้าน้ำหนักประมาณ 2,000 กิโลกรัม ไปทำบุญถวายโรงทาน วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม ส่วนที่เหลือที่ตัดทำบุญไม่ทันก็ต้องจำใจปล่อยทิ้งให้ต้นแก่ ถูกหนอนกัดกินจนเสียหาย แล้วลงมือใช้เครื่องตัดหญ้ามาตัดทิ้งทั้งหมด รวมน้ำหนักกว่า 1 แสนกิโลกรัม
ทั้งนี้ นอกจากตนที่ประสบชะตากรรมราคาผักตกต่ำแล้ว ก็ยังมีเพื่อนเกษตรกรที่ปลูกคะน้า กวางตุ้ง และถั่วฝักยาว คนอื่นๆ ในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน