เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สธ. โต้องค์การอนามัยโลก ! ปมกล่าวหาตลาดนัดจตุจักรเป็นต้นตอแพร่โควิด-19


24 ก.พ. 2564, 17:15



สธ. โต้องค์การอนามัยโลก ! ปมกล่าวหาตลาดนัดจตุจักรเป็นต้นตอแพร่โควิด-19




จากกรณีสื่อข่าวของเดนมาร์ก เปิดเผยว่านักวิจัยขององค์การอนามัยโลก WHO ออกมาตั้งข้อสงสัยว่า ตลาดนัดจตุจักรอาจเป็นแหล่งต้นตอของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากตลาดนัดจตุจักรมีการค้าสัตว์หลากลายชนิด และสัตว์เหล่านี้มักถูกขังอยู่ในกรงอย่างแออัดมาก จนสัตว์สัมผัสกันได้ง่าย สูดอากาศเดียวกัน และสัมผัสกันด้วยปัสสาวะและอุจจาระ หากสัตว์เพียงตัวเดียวติดเชื้อไวรัส สัตว์นั้นจะสามารถแพร่กระจายโรคได้ง่าย


ล่าสุด (24 ก.พ.64) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาชี้แจงกรณีนี้ว่า ได้ดำเนินการสำรวจสัตว์ที่มีการค้าในตลาดจตุจักร และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่ม เช่น สัตว์กลุ่มกระรอก กลุ่มแมว กลุ่มสุนัข กลุ่มหนู กระต่าย และสัตว์ต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ เป็นต้น เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 ปรากฏว่า ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรน่า ในสัตว์ที่มีการค้าขายในตลาดจตุจักร ดังนั้น ข้อมูลที่กล่าวว่าไทยอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (SARS-CoV-2) นั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด



ทั้งนี้สัตว์ที่มีการค้าในตลาดจตุจักรเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตให้มีการเพาะพันธุ์และค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสัตว์ต่างประเทศที่มีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย โดยมีชุดปฏิบัติการ 1362 ของกรมอุทยานฯ เข้าตรวจตรา ป้องกันการกระทำผิด รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันโรคจากสัตว์ป่าสู่คนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรณีที่อ้างว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวเกือกม้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางตะวันออกของประเทศไทยนั้น ขอเรียนชี้แจงว่า ในเดือนมิ.ย.2563 คณะนักวิจัยของไทย ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มค้างคาวมงกุฎ (หรือค้างคาวเกือกม้าที่กล่าวถึงในข่าว) ในหลายพื้นที่ และถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่ ดำเนินการเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวและเลือด เพื่อทำการตรวจหาไวรัสโคโรน่า 2019 โดยความร่วมมือทางวิชาการกับโปรแกรมการศึกษาและวิจัยโรคอุบัติใหม่ มหาวิทยาลัย Duke-NUS พบว่าไวรัสที่ตรวจพบในค้างคาวมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไวรัสโคโรน่า 2019 เพียง 91% ซึ่งไม่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้


นอกจากนั้นกรมอุทยานฯ ยังได้ดำเนินการเชิงรุกโดยมีการสำรวจเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในค้างคาว และลิ่น ในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นตัวกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้งดการล่า ค้า รวมทั้งบริโภคสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพ กรมควบคุมโรค สธ.ให้สัมภาษณ์กรณีนี้ว่า ข่าวดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง ทั้งนี้การระบาดของโรคโควิด-19 มีข้อสงสัยว่าอาจจะข้ามมาจากสัตว์ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามาจากสัตว์ชนิดใด และมีการลงพื้นที่ตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19 ในจีน ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเช่นกัน จึงอาจทำให้มีการมองหาประเทศอื่นๆ ที่มีชายแดนติดจีน เป็นการพูดแบบกว้างๆ โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการมายืนยัน

สำหรับไทยมีการเฝ้าระวัง มีนักวิจัยเก็บตัวอย่างค้างคาวมงกุฎมาตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19 โดยร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ ก็ศึกษาค้าวคาวในเมืองไทยต่อเนื่องมา 20 ปี ว่า โอกาสที่จะมีโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนหรือไม่ ทั้งนี้ สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก่อโรคเฉพาะในสัตว์โดยไม่แพร่สู่คน เช่น เชื้อไวรัสโคโรนาในสุนัขและแมว ก็พบในสัตว์อื่นเช่น ค้าวคาว แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานที่ชี้ชัดว่าเชื้อโควิด-19 ที่มีการระบาดในขณะนี้มาจากสัตว์ชนิด

ขอบคุณ มติชนออนไลน์  / 2 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.